อย่างที่ทราบกันดีว่าอาการปวดหัวไมเกรน มักจะเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด ความร้อน การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ
การมีประจำเดือน หรือได้กลิ่นแปลก ๆ ไม่พึงประสงค์ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งที่พบได้รอบตัวเรานั่นเอง ดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่หลายคนจะมีอาการกำเริบได้บ่อย สร้างความเจ็บปวดทรมานซ้ำ ๆ จนกลายเป็นอาการปวดไมเกรนเรื้อรังได้
เมื่อไม่นานมานี้ American Headache Society องค์กรที่ศึกษาและให้ข้อมูลความรู้ด้านการรักษาอาการปวดหัวในรูปแบบต่าง ๆ จากสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาแสดงท่าทีถึงความหวังในยาป้องกันอาการปวดไมเกรนรุ่นใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Calcitonin Gene-Related Peptide (CGRP) monoclonal antibodies ว่ามีความเป็นไปได้ที่จะช่วยในการรักษาอาการปวดไมเกรนแบบที่เกิดขึ้นบ่อย และอาการปวดไมเกรนแบบเรื้อรังได้
ทีมนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ ได้สะท้อนให้เห็นปัญหาของการรักษาไมเกรนด้วยยาว่า ในปัจจุบันยาที่ใช้ในการรักษาอาการปวดหัวไมเกรนนั้นเป็นยารุ่นเก่า ๆ
ซึ่งรุ่นล่าสุดที่ถูกพัฒนาและมีการนำมาใช้นั้น คือ ยากลุ่มทริปแทน (triptans) ที่วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2534 และก็เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดไมเกรน ไม่ใช่เพื่อป้องกันการปวดไมเกรน
และปัจจุบันผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว ยังขาดการพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการกำเริบของไมเกรนรุ่นใหม่ ๆ ออกมา
จากตัวเลือกที่มีจำกัดในการใช้ยานี่เอง ทำให้เกิดการประชุมผู้เชี่ยวชาญ 1000 คนจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งจากการประชุมนี้มีบริษัทยา 4 แห่ง ได้แก่ Alder Pharmaceuticals, Amgen, Eli Lilly and Company และ Teva Pharmaceuticals ได้นำเสนอถึงความร่วมมือในการศึกษาวิธีป้องกันอาการปวดไมเกรน และพบความเป็นไปได้ในการใช้ยานี้ในคน
โดยยาชนิดนี้จะไปลดระดับของโปรตีนเปปไทด์ที่ชื่อ Calcitonin Gene-Related Peptide ซึ่งพบว่าเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรน โดยยาที่ผลิตคิดค้นนี้จะใช้คุณสมบัติของการเป็นแอนติบอดีที่จะไปจับกับโปรตีนเปปไทด์ชนิดนี้เพื่อลดการกระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนนั่นเอง
จากการทดลองศึกษาผลของยาในอาสาสมัคร พบว่า ยาชนิดนี้สามารถป้องกันการกำเริบในรายที่เป็นบ่อยได้ โดยพบว่าลดจำนวนชั่วโมงที่มีอาการปวดลงได้ภายหลังจากใช้ไป 1 สัปดาห์
นอกจากนี้มีอาสาสมัครกว่า 50% ลดความถี่ในการปวดหัวลงได้เช่นกัน และเมื่อแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้ยาชนิดนี้ และอีกกลุ่มให้ยาหลอก ติดตามผลการใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน พบว่าในครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่ได้รับยาชนิดนี้มีจำนวนวันที่ปวดไมเกรนลดลงถึง 50% หลังจากใช้ยาไป 12 สัปดาห์
ความเป็นไปได้ของสารประกอบใหม่ชนิดนี้ในการป้องกันอาการปวดไมเกรนนั้น สร้างความหวังให้กับผู้ป่วยไมเกรนได้เป็นอย่างมาก และจากกลไกการทำงานของยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารที่ทำให้เกิดอาการปวดไมเกรนโดยตรง
ถ้าสามารถผลิตออกมาเป็นยาและวางจำหน่ายได้จริง ๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยได้ใช้ยาชนิดใหม่ที่มีความจำเพาะกับการรักษาอาการปวดไมเกรนมากขึ้น นั่นก็หมายความว่าคุณก็จะได้ใช้ยาป้องกันไมเกรนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง
ที่มา : http://www.sciencedaily.com/releases/2015/06/150617091604.htm