มารู้จักกับ “โรค PTSD” กับอาการป่วยที่คนรอบข้างต้องเข้าใจ

เมื่อความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับเราไม่ได้มาจากความทุกข์ทรมานทางกายที่หาสาเหตุได้อย่างแน่ชัด และสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุดแต่เพียงเท่านั้น

เพราะยังมีโรคที่เกิดขึ้นกับความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจ ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังป่วย แถมยังหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้นไม่ได้อย่างชัดเจน

จนทำให้หลายคนสรุปผลเอาเองดื้อๆ ว่าเป็นภาวะเครียดเพียงอย่างเดียว ทำให้บางครั้งคนเหล่านี้มีการแสดงออกทางพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้

จนทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจ เกิดความเบื่อหน่ายและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองถูกกีดกันจากสังคมมากขึ้น

ดังเช่น โรค PTSD ที่ชื่ออาจจะดูไม่คุ้นหูเท่าใดนัก แต่มันคือ หนึ่งในโรคที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจโดยตรง เกิดขึ้นจากการถูกกระทบกระทั่งต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง

ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจึงจะทำให้โรคนี้ทุเลาอาการลงได้ รวมไปถึงคนใกล้ชิดต้องทำความเข้าใจต่ออาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยอีกทางหนึ่งด้วย

โรค PTSD

Photo Credit: Send me adrift.

โรค PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) คืออะไร?

สำหรับโรคชื่อนี้ในทางการแพทย์รู้จักกันในชื่อว่า “ความผิดปกติที่เกิดหลังความเครียดที่สะเทือนใจ” เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้หลังจากได้พบเห็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจมากๆ หรืออยู่ในเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวอย่างสุดขีด

เช่น เป็นหนึ่งในผู้ประสบเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ผู้ที่เห็นคนถูกรถชนเสียชีวิต ผู้ที่ถูกข่มขืน หรือผู้ที่คนใกล้ชิดเสียชีวิตอย่างกระทันหันต่อหน้าต่อตา เหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรงตามมาได้แม้ว่าบางรายที่ได้รับฟังข่าวสารมาจากผู้อื่นก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้เช่นเดียว

ทราบได้อย่างไรว่าตนเองป่วยเป็นโรค PTSD?

การสังเกตอาการเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นแบบฉับพลันและเกิดขึ้นในภายหลังเหตุการณ์ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ซึ่งหากเกิดเพียงในระยะแรก อาการจะหายไปเองและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากเป็นความตกใจเพียงชั่วขณะระยะเวลาหนึ่งๆ เท่านั้น

แต่สำหรับในกรณีระยะที่สอง ผู้ป่วยจะมีภาพจำอยู่ในหัว เมื่อใดที่นึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ ขึ้นมาก็จะส่งผลให้เกิดความเครียดและรู้สึกถึงเหตุการณ์นั้นกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง บางครั้งอาการรุนแรงกลายเป็นภาพหลอน รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวหรือได้ยินเสียงตะโกนของคนร้ายที่จะเข้ามาเอาชีวิต

ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะนี้จะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม คือ จะรู้สึกหวาดผวา ตื่นกลัวกับเสียงดังเล็กๆ น้อยๆ ได้ง่าย กระวนกระวายใจ อยู่นิ่งๆ ไม่ได้นาน หวาดกลัวกับสิ่งรอบๆ ตัว มองโลกในแง่ลบ สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึก มีอารมณ์ฉุนเฉียวง่าย นอนหลับยาก หัวใจเต้นแรงและอาจจะรู้สึกคล้ายตัวเองกำลังจะตายได้

รักษาโรค PTSD ได้อย่างไร?

สำหรับโรคนี้สามารถรักษาได้ 2 วิธี คือ การใช้ยาและการรักษาทางจิตเวชร่วมด้วย โดยการให้ยาผู้ป่วยจะถูกใช้ก็ต่อเมื่อการรักษาทางจิตเวชไม่สามารถแก้ไขอาการได้ ยาที่ใช้จะเป็นยาประเภทเดียวกับโรคซึมเศร้า เป็นยารักษาต่อเนื่องระยะยาว ออกฤทธิ์หลังจากใช้ไปแล้วประมาณ 3 สัปดาห์

แต่ในบางรายที่มีอาการรุนแรงหรือรู้สึกตื่นกลัวแบบกระทันหัน จะมีการให้ยาระงับประสาทประเภท diazepam ร่วมด้วย แต่ส่วนมากมักจะไม่ค่อยถูกใช้โดยไม่จำเป็น เนื่องจากเป็นยาที่ทำให้เกิดอาการเสพติดและต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นไปเรื่อยๆ

การเยียวยาผู้ป่วย PTSD

ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการของโรค จะต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ต่อพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์บาอย่างของผู้ป่วย คอยให้กำลังใจและไม่ตีตัวออกห่างจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไม่มีที่พึ่ง ส่วนตัวของผู้ป่วยเองก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค่อยๆ ปรับระบบความคิด

อย่าหมกมุ่นอยู่กับตัวเองคนเดียว หากิจกรรมยามว่างทำ คุยกับเพื่อนฝูง ออกกำลังกาย และทำจิตใจให้สงบ ก็จะช่วยให้อาการที่เป็นอยู่ค่อยๆ ทุเลาและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขอีกครั้ง

การรักษาโรค PTSD ถือว่าเป็นสิ่งที่คนรอบข้างต้องให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับจิตใจโดยตรง

การรักษาที่ดีและตรงจุดมากที่สุดคือ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมร่วมกับการใช้ยาเป็นทางเลือกที่สองจึงจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายจากอาการเหล่านี้ได้รวดเร็วขึ้น

Related Posts