โรคไบโพลาร์ คือภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ ซึ่งเป็นถือว่าเป็นความเจ็บป่วยทางจิตใจ มีอารมณ์ 2 ขั้ว
จากรายงานจำนวนผู้ป่วยที่มาเข้ารับบริการในสถานพยาบาลสังกัดกรมสุขภาพจิต พบว่า ในปี 2556 จากจำนวนผู้ป่วยกว่า 150,000 คน
พบผู้ป่วยที่เป็นไบโพล่าร์ถึงกว่า 52,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ช่วงอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-54 ปี
โรคไบโพล่าร์คือการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพทางสมอง ทำให้บุคคลนั้นเปลี่ยนไปจากเดิม ผู้ป่วยจะสูญเสียความเป็นตัวเองไป มีความผิดปกติทางอารมณ์เหวี่ยงไปมาระหว่างอารมณ์ 2 ขั้น
ขั้วแรกคือมีภาวะอารมณ์เศร้าอย่างรุนแรง ส่วนขั้วที่สองคือมีอาการร่าเริงผิดปกติหรืออาจคุ้มคลั่งได้ (ภาวะแมเนีย)
ไบโพล่าร์นี้ถึงจะเกิดขึ้นกับสมองและจิตใจ แต่ก็แตกต่างจากโรคจิตทั่วไป เพราะเป็นโรคที่เกี่ยวกับอารมณ์สุขหรือทุกข์ที่แสดงออกมามากผิดปกติ
จากการที่สารเคมีในสมองที่มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ความคิดหรือพฤติกรรมนั้นทีความผิดปกติ ซึ่งยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด
แต่บางครั้งก็เกิดจากความตึงเครียด สารเสพติด การสูญเสียสิ่งที่รัก หรือยาบางชนิด นอกจากนี้พันธุกรรมก็มีผลกับการเกิดภาวะอารมณ์ 2 ขั้วหรือไบโพล่าร์ได้เช่นกัน
สำหรับคนที่สงสัยว่าตัวเองหรือคนรอบข้างเข้าข่ายไบโพล่าร์หรือไม่ ให้สังเกตจากการแสดงอาการจะต้องมีความยาวนานเป็นสัปดาห์ๆ ไม่ใช่แค่วูบวาบหรือชั่วคราว
สามารถให้แพทย์วินิจฉัยได้ก็ต่อเมื่อมีผลกระทบในชีวิตอย่างมาก เช่น ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานอย่างมาก เพราะว่า อย่างกรณีคนที่เป็นโรคซึมเศร้า เวลาซึมเศร้ามากๆ เขาจะรู้สึกทุกข์ทรมาน หรือสร้างความเสียหายต่อหน้าที่การงาน การเรียน ไปจนถึงสัมพันธภาพกับคนรอบ
วิธีสังเกต ภาวะขั้วที่ 1
วิธีสังเกตผู้ป่วยโรคไบโพล่าร์ขั้นต่อไปคือ สำหรับขั้วอารมณ์ที่หนึ่ง ผู้ป่วยจะมีสีหน้าอารมณ์เศร้า หดหู่ บางคนอาจจะรู้สึกตื่นเต้นตกใจง่าย หงุดหงิด เกิดความเบื่อหน่ายชีวิต มักเศร้าหรือร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ มองโลกในแง่ร้าย
กิจกรรมที่เคยชอบ เคยสนุกสนาน ลดลงอย่างมาก เช่น เคยชอบดูทีวี เคยสนุกกับการออกกำลังกายก็จะลดลง พลังกายและใจลดลงอย่างมาก รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยหน่าย ไม่อยากทำอะไร ไม่สนใจที่จะพูดคุยกับผู้อื่นเหมือนเคย คนรอบข้างจะสังเกตได้ง่ายว่าดูเหนื่อยๆ ดูเปลี่ยนไปเป็นคนละคน
นอกจากนี้ผู้ป่วยขั้วอารมณ์ที่หนึ่ง ยังมีผลกระทบเรื่องความจำ ขาดสมาธิ มีความลังเล ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ แม้แต่ในเรื่องที่ง่ายๆ
ซึ่งคนปกติสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ก็ไม่สามารถทำได้ หมกมุ่นคิดแต่เรื่องเดิมซ้ำๆ และภาวะนี้จะมีผลต่อการนอนด้วย อาจทำให้นอนหลับยาก ตื่นเร็ว หรือบางคนอาจจะนอนมากเกินไป นอนทั้งวันจนผิดปกติ หรือบางคนอาจเกิดเบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารมากกว่าปกติจนผิดสังเกต
น้ำหนักมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วชัดเจน รวมไปถึงผลกระทบในส่วนของความคิด ผู้ป่วยมักมีความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า ไม่อยากมีชีวิตอยู่ จนคิดสั้น ทำร้ายตัวเอง และอยากฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆ
วิธีสังเกต ภาวะขั้วที่ 2
ส่วนอาการอีกขั้วที่เรียกว่าคลุ้มคลั่ง (Mania) สามารถสังเกตผู้ป่วยได้ดังนี้ ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะมีอารมณ์ดีหรืออารมณ์ร่าเริงมากเกินไปกว่าปกติ บางคนอาจจะมีความคิดผิดปกติ มีความเชื่อมั่นตัวเองสูง
เชื่อว่าตัวเองมีอำนาจเหนือผู้อื่น และหงุดหงิดง่ายมาก ผู้ป่วยมักจะมีการโต้แย้งโต้เถียงกับผู้อื่นเสมอๆด้วยความคิดที่แตกต่างจากคนอื่น และเชื่อมั่นว่าตัวเองมีอำนาจ ดีกว่า เก่งกว่า ชอบวิจารณ์คนอื่น
ดังนั้น ลักษณะของอาการคลุ้มคลั่งจะทำให้มีพลังเยอะ ความคิดแล่นเร็ว กล้าพูดกล้าทำ กล้าแสดงออกทางความคิดอ่านมากกว่าปกติ มีความเข้มข้นทางอารมณ์มาก ทั้งอารมณ์สนุกสนาน ร่าเริงหรือก้าวร้าวเมื่อถูกขัดใจ
ทำอะไรต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว สับเปลี่ยนเรื่องรวดเร็วอย่างมากด้วย เช่น เดี๋ยวก็อยากทำอันนี้ เดี๋ยวอีกซักพักก็อยากทำอันนี้ เป็นแบบนี้จนคนอื่นตามไม่ทัน แต่สิ่งที่พูด สิ่งที่คิด ทุกอย่างไม่เหมือนคนปกติ ไม่มีสมาธิในการทำอะไร ผู้ป่วยบางคนจะหลงผิดคิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษหรือเป็นบุคคลสำคัญ
นอกจากนี้ผู้ป่วยขั้วคลุ้มคลั่งอาจมีความต้องการทางเพศสูงกว่าปกติ ซึ่งพบเจอได้สูง เพราะคนลักษณะนี้มักทำอะไรด้วยการขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ หุนหันพลันแล่น
ไม่คิดว่าจะมีผลอะไรตามมาภายหลัง ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงตามมาได้ อาจจะมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้ง่ายๆ เพราะด้วยความที่ขาดสติและไม่คำนึงถึงความเสี่ยงใดๆ ใจกล้า
นอกจากนี้บางคนอาจชอบการแต่งกายที่โดดเด่นสะดุดตา สีฉูดฉาด ใส่เครื่องประดับมากจนเกินจำเป็นอีกด้วย รวมถึงอาจชอบใช้เงินแบบขาดสติ เสี่ยงโชคแบบไม่ลืมหูลืมตา
สำหรับคนที่สงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดกำลังอยู่ในภาวะไบโพล่าร์ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินไป เพราะมนุษย์เราปกติแล้วก็มีอารมณ์สุขและทุกข์ในแต่ละวันเป็นปกติ เช่น ชั่วโมงนี้อาจอารมณ์ดี ร่าเริงมาก
แต่ชั่วโมงถัดไปอาจรู้สึกเศร้า หดหู่ แบบนี้ถือว่ายังมีความเป็นปกติ เพราะอารมณ์ถือว่าเป็นเรื่องปกติ หากว่าการแสดงออกของเรายังเหมาะสมและไม่เข้าข่าย
แต่กรณีผู้ป่วยไบโพล่าร์จะมีอาการอารมณ์ 2 ขั้วดังที่กล่าวขั้นต้นติดต่อกัน 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป มีอาการซ้ำๆ สลับไปมา หรืออาจจะปนกันในคราวเดียว นอกจากอารมณ์แล้ว พฤติกรรมความคิดความอ่านนั้นถือว่าเกินกว่าปกติ อาจจะทุกข์มากจนซึมจนทำร้ายตัวเอง หรือสุขมากจนคึกคักและควบคุมตัวเองไม่ได้
การรักษาไบโพล่าร์
ปัจจุบันทางการแพทย์ทำการรักษาด้วยตัวยาและการบำบัดทางอารมณ์สำหรับภาวะอารมณ์สองขั้วนี้ โดยจะใช้ยาที่ทำหน้าที่ปรับสภาพสารสื่อประสาท เพื่อปรับสารเคมีในสมอง
ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง ควบคู่ไปกับการบำบัดทางจิตวิทยาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงสาเหตุ และภาวะนี้และเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกจุด รวมถึงยังมีคำแนะนำเพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมหลังจากอาการป่วยทุเลาลง
ผู้ป่วยจะหายหรือไม่หายขึ้นอยู่กับว่ามีวินัยในการรักษาหรือไม่ เพราะโรคไบโพล่าร์นี้ไม่มีตัวยาหรือการรักษาเฉพาะทาง ต้องอาศัยการรักษาไปตามอาการด้วยความเข้าใจ
ผู้ป่วยที่เคยป่วยซ้ำมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นอีกสูงกว่าผู้ป่วยที่เพิ่งเป็นครั้งเดียว ดังนั้น คนใกล้ชิดต้องมีความเข้าใจในตัวผู้ป่วยให้มาก หมั่นให้กำลังใจและคอยตรวจดูอาการ ให้ผู้ป่วยทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดีขึ้นได้