เมื่อพูดถึง “ไต” ส่วนหนึ่งของอวัยวะที่สำคัญ ทำหน้าที่ประจำการในสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง หน้าที่หลักของมันคือการขับถ่ายของเสียส่วนเกินออกจากร่างกาย
ช่วยสร้างสมดุลให้ระดับเกลือแร่ กลูโคส รวมไปถึงสารละลายอื่นๆ ให้ร่างกายสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ ทั้งระดับกรดและด่าง รวมไปถึงระดับความดันเลือดให้เป็นปกติ
ซึ่งโดยส่วนใหญ่ของเสียเหล่านี้จะมาจากกระบวนการเมแทบอลิซึม ของเสียที่ได้จะมีความเกี่ยวเนื่องกับระบบการทำงานของปัสสาวะ สิ่งที่เราปล่อยออกมาจากกระเพาะปัสสาวะก็คือยูเรียและของเสียส่วนเกินอื่นๆ ในส่วนของสารที่มีประโยชน์ ไตก็จะทำการดูดกลับและนำเอาไปใช้งานต่อไป
ไตจะอยู่ภายในช่องท้องในส่วนของบริเวณเยื่อบุในช่องท้อง ในไตแต่ละข้างจะมีหน้าที่ส่งของเสียเข้าสู่ท่อไต ซึ่งเชื่อมโยงกับกระเพาะปัสสาวะอีกทอดหนึ่ง มีเส้นเลือดที่ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงอวัยวะนี้ เป็นเส้นเลือดแดงคู่และเส้นเลือดดำคู่
อย่ามองข้ามภัยเงียบที่มักเกิดขึ้นกับไต
เนื่องจากไตทำงานเป็นหน่วยกำจัดของเสีย สิ่งที่ตามมาก็คือมันมักจะปนเปื้อนไปด้วยสิ่งสกปรก เชื้อโรคและสารพิษได้ง่าย ยิ่งใครที่รับประทานเอาอาหารที่ไม่ดีเข้าไปมาก ไตก็จะยิ่งเสื่อมสภาพและนำไปสู่การเกิดโรคได้อย่างมากมาย
โดยทั่วไปเรามักจะพบอาการที่เกิดจากโรคไต ซึ่งเชื่อกันว่ามีสาเหตุมาจากการกินอาหารรสเค็มจัดเพียงอย่างเดียว ทว่าในความเป็นจริง ไม่ใช่เพียงแค่อาหารเหล่านี้เท่านั้นที่เป็นต้นเหตุ แต่ยังมีความเสื่อมสภาพจากการทำงานหนัก ทำให้เกิดอาการไตอักเสบ ภาวะไตอักเสบแบบเฉียบพลัน
อาการโรคไตแบบเรื้อรัง นิ่วในไตจนเกิดการอุดตันของท่อทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในท่อปัสสาวะจนลุกลามเข้าสู่ไต โรคมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ ไปจนถึงความไม่สมบูรณ์อื่นๆ ที่มีสาเหตุมาจากโรคเรื้อรังประเภทอื่นจนทำให้ไตทำงานผิดปกติ ระดับภูมิคุ้มกันต่ำและเกิดภาวะไตอ่อนแอขึ้นมา
สาเหตุของการเกิดโรคไต
โรคไตไม่ใช่โรคที่เกิดจากการเสื่อมสภาพและเพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงที่มีอายุมาก แต่บางครั้งไตก็สามารถเกิดความผิดปกติและดำเนินโรคมาได้ตั้งแต่กำเนิด ซึ่งมักพบในเด็กที่ร่างกายไม่แข็งแรง ขณะอยู่ในครรภ์มีร่างกายเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ส่งผลให้มีไตเพียงข้างเดียว หรือขนาดไตแต่งละข้างไม่เท่ากัน เมื่อคลอดออกมาการทำงานจึงไม่เต็มที่ในการกำจัดของเสีย
ส่วนใหญ่จะมาจากความผิดปกติของตัวแม่หรือการเจริญเติบโตของไข่ที่ม่สมบูรณ์ การได้รับยาปฏิชีวนะ การได้รับรังสี การได้รับคีโม การใช้สารเสพติด การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ไปจนถึงความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ก็ล้วนเป็นผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กไม่แพ้ไปกว่าลักษณะทางกรรมพันธุ์
สาเหตุต่อมาคือความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการอักเสบ ส่วนใหญ่มักมาจากการอักเสบของเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อไต การติดเชื้อบางชนิด โดยส่วนมากมาจากเชื้อแบคทีเรีย หรือการติดเชื้อที่มาจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จนลุกลามเข้าสู่เนื้อเยื่อของไต เกิดภาวะไตเป็นหนอง หรือกรวยไตอักเสบ เป็นต้น
นอกจากนี้บางรายยังมีสาเหตุมาจากการอุดตันของท่อไต มักมาจากนิ่วในไต เนื้องอก หรือหากเป็นในชายก็อาจจะมาจากภาวะต่อมลูกหมากโตจนไปกดทับการทำงาน ส่วนผู้หญิงก็สามารถเกิดขึ้นได้จากมะเร็งปากมดลูกที่ขยายตัวขึ้นไปกดการทำงานของท่อไตได้เช่นกัน ส่วนในกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันหรือเก๊าท์ ก็สามารถทำให้ไตเสื่อมสภาพจนเกิดเป็นโรคไตวายเรื้อรังตามมา
อาการที่มักพบเมื่อเกิดความผิดปกติที่ไต
เมื่อไตทำงานผิดปกติ ร่างกายจะเริ่มแสดงปฏิกิริยาออกมาให้เราเห็น เนื่องจากสารพิษในร่างกายถูกกำจัดออกไปไม่หมด ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงอาการที่บ่งชี้ให้เราได้เห็นกันบ่อยๆ ดังต่อไปนี้
มีอาการปัสสาวะผิดปกติ
อาการปัสสาวะผิดปกติ มักจะมีลักษณะกระปิดกระปรอย ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการเชื่อมโยงระบบการทำงานระหว่างท่อไตและกระเพาะปัสสาวะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เมื่อใดก็ตามเมื่อไตทำงานผิดปกติ การทำงานของระบบปัสสาวะก็ย่อมรวนและแสดงผลให้เราเห็นได้ ซึ่งในแต่ละคนมีอาการรุนแรงมากน้อยต่างกันออกไปตามลักษณะของโรคที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ปัสสาวะขัดธรรมดา จนต้องปัสสาวะอยู่บ่อยๆ หรือต้องเบ่ง บางรายมีอาการเจ็บแสบบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะเกิดการสะดุดกลางคัน บางรายหากมีอาการรุนแรง น้ำปัสสาวะที่ออกมาอาจจะเป็นฟอง ปัสสาวะมากขึ้นและบ่อยขึ้น แถมบางครั้งมักมีเลือดปนออกมาด้วย ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งแบบน้ำเลือดสดๆ หรือเป็นลิ่มเลือด
บวมตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตสามารถสังเกตได้ง่ายๆ จากภาวะอาการบวมที่เรามักเรียกว่า “อาการบวมน้ำ” ซึ่งจะเกิดขึ้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณขาและเท้าที่สังเกตได้ง่าย บางรายมีอาการบวมรอบดวงตา ใบหน้า มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นแม้จะกินในปริมาณน้อยหรือแม้จะรู้สึกเบื่ออาหาร บริเวณที่บวมเมื่อใช้มือกดแล้วปล่อยจะไม่เด้งตามขึ้นมา แต่จะเกิดเป็นรอยบุ๋ม อาการลักษณะนี้บ่งชี้ให้เห็นชัดเลยว่าน่าจะมาจากความผิดปกติของไตได้
รู้สึกปวดตามกล้ามเนื้อ
อาการปวดตามกล้ามเนื้อในบางครั้งอาจจะมีสาเหตุมาจากโรคไตได้ สังเกตได้ง่ายๆ ว่ามักจะปวดบริเวณเอว หลัง ตามกระดูกและข้อ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าตัวเองกำลังจะเป็นโรคเก๊าท์ แต่อาการเหล่านี้ก็คือต้นเหตุของการเป็นโรคไตได้เช่นกัน ซึ่งลักษณะในการปวดจะไม่ปวดเฉพาะตามข้อ แต่จะมีอาการปวดร้าวไปถึงส่วนของกล้ามเนื้อ บั้นเอวด้านท้ายและสามารถร้าวไปถึงท้องน้อย ขาอ่อน หัวหน่าวและกระทบไปจนถึงอวัยวะเพศได้เลยทีเดียว บางรายยังพบอาการปวดร่วมกับภาวะไข้ ตัวสั่น และรู้สึกหนาวผิดปกติในช่วงเวลากลางคืนอีกด้วย
มีภาวะความดันโลหิตสูง
ในผู้ป่วยโรคไตจะมีระดับความเข้มข้นของสารต่างๆ ในเลือดไม่สมดุล สิ่งที่ตามมาคือระดับความดันเลือดที่ผิดปกติ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จึงมักมีความเสี่ยงเป็นโรคไตมากกว่าคนปกติได้หลายเท่า ยิ่งใครที่มีภาวะความดันสูงติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจจะหมายถึงระดับความสามารถในการควบคุมสารของไตลดลง เกิดภาวะโรคไตเรื้อรัง และมักจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดแดงในไตตีบได้อีกด้วย ยิ่งใครที่มีภาวะไตวายหนักๆ ก็จะยิ่งทำให้ระดับความดันในเลือดสูงมากขึ้นจนไม่สามารถลดระดับลงได้ เนื่องจากเกลือแร่และและน้ำในร่างกายเกิดภาวะเสียสมดุลขึ้นมา
การรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคไต
สำหรับผู้ที่ทำการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าเป็นโรคไตชนิดต่างๆ จะมีการแบ่งระดับความรุนแรงของโรคและรักษาตามโรคที่พบ ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่สาเหตุของความผิดปกติที่เกิดขึ้น บางรายที่เป็นโรคเรื้อรังอย่างเบาหวานและความดัน อาจจะมีการหยุดยาบางชนิดที่ทำให้ไตต้องทำงานหนัก และเปลี่ยนไปใช้ยาที่มีความเหมาะสมมากขึ้น
หลังจากการรักษาแล้วไตจะไม่สามารถกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพดังเดิม ผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นต้องทำการตรวจรักษาอย่างต่อเนื่อง และไตจะเสื่อมลงตามสภาพ ทำให้เกิดความผิดปกติอื่นๆ ตามมาได้ในอนาคต การชะลอความเสี่ยงเหล่านี้จึงถูกหยิบยกนำมาใช้ เนื่องจากเซลล์เนื้อเยื่อของไตบางส่วนถูกทำลายจนเสียหาย ผู้ป่วยจึงต้องถูกควบคุมการกินอาหารที่มีประโยชน์ ใช้ยาที่ทำหน้าที่ช่วยให้ไตกำจัดสารพิษได้สะดวก และที่สำคัญจะต้องมีการควบคุมระดับความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอยู่เสมอ
การรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคไต
ผู้ป่วยโรคไต มีความเกี่ยวข้องกับการเลือกอาการให้เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง อาหารที่รับประทานเข้าไปจะต้องมีโปรตีนต่ำมากๆ เพื่อป้องกันการเพิ่มขึ้นของสารพิษ มีการรับประทานอาหารเสริมประเภทกรดอะมิโนที่จำเป็น แต่ถ้าหากผู้ป่วยได้รับโปรตีนที่มีคุณภาพสูง ซึ่งมาจากเนื้อสัตว์อย่างเพียงพอก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีการเติมกรดอะมิโนเสริมเข้าไปแต่อย่างใด นอกจากนี้ควรเลือกกินอาหารที่มีคลอดเลสเตอรอลต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารฟอสเฟตสูง และพยายามรสความเค็มของอาหารลง โดยเฉพาะเกลือ แต่ยังสามารถรับประทานได้ในปริมาณน้อย ดังนั้นอาหารส่วนใหญ่จึงควรมีรสจืดเพื่อป้องกันไม่ให้ไตทำงานหนักจนเข้าสู่ภาวะทรุดและเกิดอาการไตวายที่รุนแรงตามมาได้
โรคไตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย แต่มันมักถูกมองข้าม หากใครมีความผิดปกติดังกล่าวข้างต้นหรือมีนิสัยกินอาหารรสเค็มจัดก็ควรเข้ารับการตรวจร่างกายจากแพทย์เพื่อหาระดับความสมดุลของสารต่างๆ เพื่อจะได้ทำการรักษาได้ทันท่วงทีหากพบอาการป่วยขึ้นมาจริงๆ ค่ะ