โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า โรครูมาตอยด์ เป็นโรคเกี่ยวกับข้ออักเสบชนิดเรื้อรังรุนแรง หากเป็นแล้วย่อมทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการทรมานได้เป็นเวลานานหลายปีเลยทีเดียว และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือหากรักษาช้าเกินไปอาจส่งผลให้สมรรถภาพของข้อเสื่อมเร็วจนกระทั่งพิการได้ และหากเกิดขึ้นแล้วก็อาจไม่สามารถรักษาแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติดังเดิม 100% ได้อีกด้วย
สาเหตุของการเกิดโรครูมาตอยด์
แม้ว่าโรครูมาตอยด์จะเกิดขึ้นกันมานานมากแล้ว หากขณะนี้ก็ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจนแน่นอน แต่เชื่อกันว่าเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อรวมถึงเยื่อบุชนิดต่างๆ ภายในร่างกายซึ่งมีผลจากการตอบสนองในระบบภูมิคุ้มกันโรคบางชนิด รวมถึงจากสารพิษบางอย่างหรือจากเชื้อไวรัส นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าอาจมีส่วนเกี่ยวของกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมร่วมด้วย โดยโรครูมาตอยด์นั้นมักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายมากถึง 5 เท่าและสามารถปรากฏอาการได้ทุกช่วงวัย แต่จะพบส่วนใหญ่กับผู้ป่วยที่มีอายุระหว่าง 30-50 ปี ในกรณีผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยังเด็ก อาการของโรคอาจปรากฏความรุนแรงแตกต่างจากผู้ใหญ่

Photo Credit: handarmdoc
วิธีสังเกตว่าเป็นโรครูมาตอยด์หรือไม่
1. บริเวณตามข้อหลายส่วนของร่างกายทั้ง 2 ข้างมักมีอาการอักเสบเรื้อรัง และมีอาการติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์
2. ในส่วนที่มีอาการอักเสบคือ ส่วนของข้อมือ ข้อกลางนิ้วมือ ข้อโคนนิ้วมือ ข้อเข่าและข้อเท้า โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดอักเสบบวม หากกดแล้วจะรู้สึกเจ็บตามข้อต่างๆ ถ้าผู้ป่วยเป็นมานานก็อาจจะเกิดข้อที่ผิดรูปทรงได้ซึ่งมีสาเกตุมาจากการอักเสบของเยื่อบุข้อหรือการมีเลือดคั่งในบริเวณของข้อ อีกทั้งหากผู้ป่วยไม่ได้รับการทำกายภาพบำบัด ไม่ออกกำลังกาย ทานอาหารไม่เพียงพอต่อความเหมาะสมรวมถึงการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าข้อด้วย ปัจจัยดังกล่าวย่อมส่งผลให้มีอาการอักเสบตามข้อต่างๆ ได้ค่ะ
3. ผู้ป่วยจะพบอาการข้อฝืด แข็งและเคลื่อนไหวได้ลำบาก โดยมากมักพบอาการนี้ในตอนเช้าหลังจากตื่นนอนและยังต้องใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมงจึงจะสามารถเริ่มขยับข้อให้เคลื่อนที่ได้ แต่หลังจากนั้นช่วงบ่ายการขยับเคลื่อนไหวของข้อก็จะกลับมาเป็นปกติได้ดังเดิม
4. นอกจากอาการที่ชี้แจงเบื้องต้นแล้ว ผู้ป่วยยังสามารถมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยได้ เช่น มีอาการเบื่ออาหาร กล้ามเนื้ออ่อนกำลัง ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว น้ำหนักตัวลดลง มีไข้ต่ำ เกิดภาวะเลือดจาง ต่อมน้ำเหลืองมีการอักเสบและอาการหลอดเลือดอักเสบบริเวณปุ่มรูมาตอยด์ซึ่งอยู่ใต้ผิวหนัง
5. มีการตรวจเลือดพบรูมาตอยด์แฟคเตอร์ แต่กรณนี้จะพบเพียงร้อยละ 50-70 เท่านั้นค่ะ ขณะเดียวกัน สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจเลือดไม่พบก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ได้เป็นโรครูมาตอยด์แต่อย่างใด เพียงแต่ผู้ที่มีอาการรูมาตอยด์แฟคเตอร์สูงค่อนข้างมีอาการที่รุนแรงกว่ารูมาตอยด์ทั่วไปเท่านั้นเอง
6. สามารถตรวจพบจากการเจาะน้ำในข้อไปตรวจ
7. การเอ็กซเรย์อาจไม่จำเป็นเท่าไรนัก ยกเว้นกรณีที่ต้องนำไปประเมินว่าข้อเกิดการถูกทำลายไปมากน้อยเพียงใด และแพทย์อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็มักจะเกิดอาการที่ไม่รุนแรงนัก มักเป็นๆ หายๆ เรียกได้ว่ายังสามารถใช้ข้อต่อต่างๆ ได้ตามปกติ
ผู้ที่ป่วยโรครูมาตอยด์มีอาการรุนแรงจำนวนน้อยเพียงประมาณร้อยละ 20 เท่านั้น โดยอาการของโรคจะส่งผลให้ข้อพิการเกิดข้อบิดเบี้ยวที่ผิดรูปผิดร่างจนไม่สามารถใช้งานปกติได้ อีกทั้งยังพบว่ามีจำนวนน้อยมากเช่นกันที่มีอาการอักเสบรวมไปถึงอวัยวะอื่นๆ ด้วย เช่น หัวใจ หลอดเลือด ปอด ม้ามและดวงตา เป็นต้น
ทำความเข้าใจการรักษาโรครูมาตอยด์
หากป่วยเป็นโรครูมาตอยด์แล้ว ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าใจไว้ว่าโรคนี้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถควบคุมอาการของโรคไม่ให้รุนแรงได้ เพียงแต่อาจจะต้องอาศัยระยะเวลานาน ดังนั้นแล้ว จึงต้องมีความอดทนต่อการรักษาอย่างมากและเพื่อให้ผลการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธภาพในระยะยาว ผู้ป่วยไม่ควรเปลี่ยนแพทย์ประจำที่รักษาอยู่รวมถึงไม่ควรเปลี่ยนยาเองด้วย เพราะอาจส่งผลให้การรักษาเป็นไปได้อย่างไม่ต่อเนื่อง อาจร้ายแรงจนถึงขั้นก่อให้เกิดความพิการตามมาจนไม่สามารถรักษาให้กลับมาคงสภาพอาการที่ปกติดังเดิมได้
กรณีผู้ป่วยมีอาการข้ออักเสบอยู่แล้ว การรักษานั้นแพทย์จะพยายามควบคุมไม่ให้อาการของโรคเป็นหนักมากขึ้น ดังนั้น แม้ว่าข้อจะมีอาการบวม ผิดรูปผิดร่างอยู่บ้าง หากก็ไม่ได้เป็นข้อสรุปชัดเจนว่าการรักษาเป็นไปอย่างไม่ได้ผล เพราะอย่างที่บอกไปเบื้องต้นแล้วว่า การรักษาจะต้องอาศัยความอดทน ใจเย็นและใช้เวลาพร้อมกัน
เนื่องจากผู้ป่วยโรครูมาตอยด์แต่ละคนล้วนมีอาการรุนแรงแตกต่างกันไป แพทย์จึงจะให้การรักษาที่แตกต่างกันด้วย สำหรับผู้ป่วยที่มารักษาระยะแรกนั้น แพทย์อาจต้องให้ยาแต่ละชนิดสลับเปลี่ยนเวียนกันไปมาเพื่อจะได้พบว่ายาชนิดใดที่รักษาอาการผู้ป่วยรายนั้นๆ ได้มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด สำหรับผลของการรักษาอาจจะปรากฏในทางที่ดีขึ้นหรือน้อยลงก็ย่อมขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเป็นโรค อาการรุนแรงของโรค ตลอดจนการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยร่วมด้วย หากผู้ป่วยสามารถทำกายภาพบำบัดอย่างเหมาะสมถูกต้องและทำอย่างสม่ำเสมอ ผลของการรักษาก็จะยิ่งเห็นผลที่ดีขึ้นในเวลาอันรวดเร็วได้ค่ะ