ปอดบวม (Pneumonia) เป็นโรคที่เกิดจากภาวะปอดอักเสบเนื่องจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส
เมื่อเป็นแล้วจะมีหนองและสารคัดหลั่งอย่างอื่นในถุงลม ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจนได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนที่ไม่เพียงพอและเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในที่สุด
แต่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในลำดับต้น ๆ ในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ในระยะสุดท้าย และแม้ว่าในปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมแล้วก็ตาม แต่การพยากรณ์โรค พบว่า ผู้ป่วยจะมีโอกาสหายดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ ชนิดของโรค การได้รับการรักษาที่เหมาะสม ภาวะแทรกซ้อน รวมทั้งสุขภาพพื้นฐานของตัวผู้ป่วยเองด้วย
สำหรับผู้ที่เป็นโรคปอดบวมจะแสดงอาการหอบ มีน้ำมูกไหล และไอแบบแห้ง ๆ ก่อนจะเริ่มมีอาการไอแบบมีเสมหะเหนียว จาม คัดจมูก และมีไข้ขึ้นสูง มีอาการหนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย
ส่วนโรคปอดบวมในเด็ก หากเกิดจากเชื้อไวรัส แพทย์อาจวินิจฉัยให้กลับไปรักษาอาการที่บ้านได้ เพียงแต่ต้องกระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ คอยวัดไข้ และสังเกตอาการเป็นระยะ ๆ รวมทั้งรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
ปัจจุบันสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมได้ทั้งในเด็กและผู้สูงอายุ แต่การให้จะพิจารณาจากช่วงอายุและความเสี่ยงต่อโรคของแต่ละคน
อย่างไรก็ดี การป้องกันโรคปอดบวมโดยวิธีหลีกเลี่ยงปัจจัยต่าง ๆ ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าโดยไม่เข้าไปคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวม โดยเฉพาะเด็กทารก เพราะจะเป็นอันตรายมาก และหลีกเลี่ยงจากมลภาวะที่เป็นพิษ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ และหมอกควันต่าง ๆ ในอากาศ
ในเด็กอ่อนก็ไม่ควรให้สัมผัสกับความหนาวเย็นจนเกินไป รวมทั้งควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารที่มีคุณค่า อาจพิจารณาเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคตามอายุ และถ้าหากสงสัยว่าจะเป็นปอดบวมก็ให้รีบพาไปพบแพทย์ จะได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ๆ ซึ่งจะอันตรายน้อยลง