ปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภครสเค็มกันมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากค่าเฉลี่ยการได้รับปริมาณเกลือของคนไทยซึ่งอยู่ที่ 2 ช้อนชาหรือมากกว่า 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน
โดยมากกว่าปกติที่กำหนดให้ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 1 ช้อนชา หรือ 2,300 มิลลิกรัมต่อวันอยู่มาก
สำหรับแหล่งที่มาของเกลือหรือโซเดียมนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แหล่งคือ จากเครื่องปรุงรสต่าง ๆ และจากอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือในปริมาณสูง เช่น ไข่เค็ม อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และขนมกรุบกรอบ เป็นต้น
ซึ่งการบริโภคเกลือในปริมาณมาก ๆ นี้ จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพตามมา คือ คนที่ติดรสเค็มจะเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วนได้ง่าย เนื่องจากคนที่ชอบรสเค็มจะมีพฤติกรรมการกินของหวานและเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากกว่าคนปกติ เพราะเกลือที่อยู่ในอาหารจะทำให้ความเข้มข้นของของเหลวในร่างกายสูง จึงรู้สึกกระหายน้ำ แต่เครื่องดื่มของผู้ที่ติดเค็มมักจะเป็นประเภทน้ำหวาน
จึงทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลพ่วงไปด้วย เมื่ออายุเริ่มมากขึ้น ระบบการรับรู้รสชาติของอาหารที่ลิ้นจะลดลง ดังนั้นคนที่ชอบรสเค็มจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณเกลือมากขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นสาเหตุของภาวะไตเสื่อม เพราะต้องทำงานหนักในการกรองของเสียและน้ำออกนอกร่างกายแล้ว การได้รับเกลือในปริมาณสูงเป็นระยะเวลานาน ๆ ยังจะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคสมองเสื่อมอีกด้วย
แต่จะให้หักดิบกับคนที่ชอบรสชาติอาหารแบบนี้ก็คงจะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเล็งเห็นถึงอันตรายของการบริโภครสเค็มแล้ว ก็ควรพยายามลดปริมาณเกลือในแต่ละวันลงให้ได้ ซึ่งมีวิธีการ ดังนี้
- เน้นอาหารสดให้มากกว่าอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป และหันมาใช้สมุนไพรประกอบอาหารจะช่วยให้รสชาติอาหารดีขึ้นโดยไม่ต้องเติมเกลือลงไป
- หลีกเลี่ยงหรือบริโภคแต่น้อยสำหรับอาหารที่มีรสเค็มมาก และเครื่องจิ้มประเภทต่าง ๆ
- ชิมอาหารก่อนปรุง และถ้าหากจะใส่เครื่องปรุงก็ควรใส่ทีละน้อย
- อ่านฉลากโภชนาการเพื่อดูปริมาณของโซเดียมทั้งหมด หากพบว่ามีปริมาณมากก็ควรหลีกเลี่ยง