‘เสมหะ’ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘สเลด’
คือสารคัดหลั่งที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมสร้างสารคัดหลั่งในบริเวณเยื่อบุทางเดินหายใจ
สาเหตุที่เราเกิดเสมหะหรือสเลดเรื้อรังภายในลำคอนั้นย่อมเกิดขึ้นได้จากหลายโรค
หลักๆ ก็คือ การเป็นหวัด ไซนัสหรือโรคภูมิแพ้ เป็นต้น
สำหรับการกำจัดเสมหะในทางการแพทย์แผนไทยนั้น มักนิยมนำสมุนไพรหลายชนิดมาใช้บรรเทาและกำจัดเสมหะ
โดยใช้ทั้งในรูปแบบของการนำมาประกอบอาหาร และนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม ซึ่งมีให้คุณได้นำไปใช้ด้วยกันดังนี้ค่ะ
1.มะขามป้อม

Photo Credit: foxypar4
ผลไม้ไทยพื้นบ้านที่มากด้วยวิตามินซีและให้สรรพคุณในด้านของการขับเสมหะรวมถึงบรรเทาอาการไอ เจ็บคอ ตลอดจนถึงช่วยบรรเทาอาการไข้และลดหวัดได้ด้วย สำหรับมะขามป้อมสดนั้นสามารถนำมาจิ้มเกลือทานได้หรือจะนำมาต้มดื่ม 2-3 วันก็ได้เช่นเดียวกัน รับรองค่ะว่าสมุนไพรมะขามป้อมจะช่วยกำจัดเสมหะเรื้อรังอย่างได้ผล ซึ่งอาจช่วยรักษาจนกระทั่งอาการหายขาดได้ในที่สุด นอกจากนี้ มันยังมีคุณสมบัติเพิ่มความชุ่มคอและรักษาอาการไอเรื้อรังได้อย่างน่าพึงพอใจด้วยค่ะ ใครที่นิยมกินมะขามป้อมเป็นประจำระบบภูมิต้านทานโรคยังแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
2.มะแว้ง

credit: wikipedia.org
สมุนไพรมะแว้งเป็นพืชที่หากินในปัจจุบันได้ค่อนข้างยาก ในสมัยก่อนมะแว้งเป็นผักสมุนไพรที่นิยมนำมากินคู่กับน้ำพริกได้อย่างอร่อยหรือจะนำยอดอ่อนมาผัดกับน้ำมันก็ทำให้เจริญอาหารได้อีกมื้อทีเดียวค่ะ มะแว้งยังเป็นผักสมุนไพรที่อยู่คู่คนไทยมาแต่ช้านาน แถมยังมากด้วยสรรพคุณในการบำรุงสุขภาพและรักษาโรคได้หลายอย่าง สำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านเสมหะมะแว้งยังมีบทบาทสำคัญช่วยแก้อาการไอและกำจัดเสมหะได้ดี นอกจากนี้ ยังมีผู้นิยมนำผลของมันมากินสดๆ ด้วยนะคะ แม้ว่ารสชาติจะออกขมเฝื่อนอยู่บ้าง แต่หลังจากที่ได้กลืนลงคอไปแล้ว รสเฝื่อนขมนั้นจะค่อยๆ กลายเป็นรสหวานชุ่มคอทันใด มันจึงมีประสิทธิภาพในการนำมาใช้กินเป็นอาหารทางยาเพื่อบรรเทาอาการไอและขับเสมหะได้ดีอย่างแท้จริง
หากคุณสามารถหาซื้อมะแว้งได้ แนะนำให้นำมาปั่นแล้วกรองน้ำมาดื่ม สามารถเหยาะเกลือเล็กน้อยเพื่อเพิ่มรสชาติไม่ให้เฝื่อนขมเกินไปได้ค่ะ คุณสมบัติของมะแว้งไม่เพียงช่วยแก้ไอและขับเสมหะในลำคอได้อย่างน่าทึ่ง นอกจากนี้ มันยังเป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยจึงเหมาะสมกับผู้ป่วยโรคเบาหวานอย่างยิ่ง หรือจะนำมาปั่นน้ำดื่มเป็นประจำเพื่อป้องกันโรคเบาหวานก็ยังได้เช่นกัน
3.น้ำอ้อย

credit:wikipedia.org
เครื่องดื่มที่มีคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพหลายประการ ในตำราไทยยังบอกไว้ด้วยนะคะว่า น้ำอ้อยนั้นมีฤทธิ์เป็นดั่งยาอายุวัฒนะ แม้ว่าจะมีรสหวานหากก็เป็นยาสมุนไพรที่ดีเยี่ยม เนื่องจากช่วยบำรุงกำลัง ช่วยคลายเครียด มีฤทธิ์แก้ร้อนใน ขับเสมหะโดยเฉพาะเสมหะที่เหนียวข้น ช่วยให้เกิดความชุ่มคอ บรรเทาอาการคอแห้ง แก้ดับกระหายและช่วยขับปัสสาวะได้ผล ฯลฯ น้ำอ้อยจึงจัดเป็นยาสามัญประจำบ้านที่บำรุงทั้งสุขภาพและบำบัดอาการต่างๆ ของร่างกายได้พร้อมกัน ฉะนั้น ลองหาน้ำอ้อยมาติดบ้านไว้ดื่มเย็นๆ กันบ่อยๆ นะคะจะได้ช่วยให้คุณสดชื่นมากขึ้น ยิ่งหากมีปัญหาเสมหะเป็นประจำด้วยแล้ว ทางเลือกนี้ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
4.มะระ

credit: wikipedia.org
มะระรสขมไม่ว่าจะเป็นมะระขี้นกหรือมะระจีนก็ล้วนแล้วแต่มีสรรพคุณช่วยขับเสมหะได้ เพียงนำมาต้มและใส่เกลือลงไปเล็กน้อยจากนั้นรินน้ำมาดื่ม หรือง่ายๆ เลยคือ นำมาประกอบอาหารทานตามปกติ เช่น เมนูต้มจืดมะระ มะระตุ๋นกับกระดูกหมูหรือมะระจิ้มน้ำพริกก็จัดว่าช่วยในการขับเสมหะได้ดีแน่นอนค่ะ
5.สะเดา

credit: oknation
สะเดาที่ให้รสขมสุดๆ ก็เป็นสมุนไพรอีกหนึ่งชนิดที่มีสรรพคุณช่วยขับเสมหะในลำคอได้อย่างน่าทึ่ง เพียงนำรากสะเดาสด 1 กำมือมาต้มกับน้ำให้เดือด กรองน้ำมาดื่มก่อนอาหาร 3-4 วัน เสมหะก็จะค่อยๆ ถูกขับให้หายไป
6.ยอ
นำลูกยอดิบมาเผาไฟให้สุกจากนั้นแช่กับน้ำต้มสุกแล้วรินเอาแต่น้ำมาดื่มค่ะ น้ำลูกยอมีสรรพคุณช่วยแก้เสมหะและบรรเทาอาการเจ็บคอได้หรือหากจะนำมาทำเป็นเครื่องดื่มชาจากลูกยอก็ได้เช่นเดียวกัน โดยนำลูกยอมาหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำไปคั่วจนเหลืองกรอบแล้วใส่ขวดเก็บไว้สำหรับชงเป็นชาดื่ม นอกจากนี้ ยอยังมีฤทธิ์ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย ในส่วนของใบก็สามารถนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะกับห่อหมกที่นิยมนำใบยอมาใส่ลงไปผสม คุณประโยชน์จากใบยอยังช่วยบำรุงสายตาและแก้ปัญหาตาบอดในตอนกลางคืนได้ ทำให้การมองเห็นในที่มืดชัดเจนเพราะยอมีวิตามินเอสูง ส่วนน้ำคั้นใบยอยังสามารถนำมาทาแก้ปวดโรคเกาต์หรือปวดตามข้อได้ด้วย
7.ขี้เหล็ก

credit:: wikipedia.org
ผักสมุนไพรที่มีรสขมเล็กน้อยซึ่งนิยมนำมาประกอบอาหารเมนูแกงขี้เหล็ก แต่แนะนำให้ใส่ใบย่านางซึ่งเป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน ไม่แนะนำให้ใส่กะทินะคะ เนื่องจากกะทิเป็นมันซึ่งจัดว่าเป็นอาหารที่แสลงกับเสมหะ เมื่อคุณกินทั้งใบย่านางและขี้เหล็กรวมกันแล้ว อาการเจ็บป่วยไม่ว่าจะเป็นไข้หวัด ไอหรือเสมหะในลำคอก็จะถูกขับได้อย่างคล่องคอมากขึ้น สรรพคุณของมันยังช่วยให้คุณนอนหลับสลาย คลายความเครียดและป้องกันท้องผูกได้ด้วย เมนูดังกล่าวเหมาะสมกับผู้สูงอายุที่มักจะมีปัญหาเสมหะในลำคอเหนียวข้นเป็นประจำ และยังช่วยบำรุงสุขภาพในตัวอีกด้วย
อาหารแสลงที่ควรเลี่ยง
ผู้ที่มีเสมหะมาก เพื่อการกินสมุนไพรตามที่เราแนะนำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ควรงดการกินอาหารแสลงไปก่อนซึ่งได้แก่ อาหารประเภทหวานมันทุกชนิด โดยเฉพาะอาหารทอดๆ ที่อมน้ำมันสูงยิ่งควรงดให้ได้เด็ดขาด นอกจากนี้ การใช้สมุนไพรในการบรรเทาโรคหรืออาการที่เราแนะนำไป
สรรพคุณของแต่ละชนิดอาจออกฤทธิ์กับสภาวะร่างกายผู้ป่วยในแต่ละรายแตกต่างกัน บางคนอาจจะดื่มน้ำอ้อยแล้วได้ผลดีในขณะที่อีกคนอาจจะไม่ได้ผล หรือบางคนอาจจะกินขี้เหล็กกับย่านางหรือกินมะแว้งแล้วได้ผลกว่า
ทั้งนี้ ก็ลองพยายามปรับเปลี่ยนเวียนใช้เมนูอาหารที่ใส่ผักสมุนไพรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้ค้นพบสมุนไพรที่เข้ากับการรักษาได้ตรงโรคกัน
อย่างน้อยการกินอาหารให้เป็นยา ย่อมดีกว่ากินยาจากทางการแพทย์แผนปัจจุบันจนร่างกายดื้อยา หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจนรักษาไม่หายขาดในที่สุด
ฉะนั้นแล้ว เพื่อให้สุขภาพร่างกายของเราได้รับคุณประโยชน์ของสมุนไพรในแต่ละชนิดอย่างได้ผลเต็มประสิทธิภาพ ลองกินแล้วสังเกตดูอาการไปเรื่อยๆ กันนะคะ เชื่อว่าอาการของคุณจะต้องทุเลาขึ้นบ้างไม่มากก็น้อยแน่นอน