หากใครเคยประสบกับอาการแสนประหลาด อย่างภาวะที่รู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังจะตายจากโรคหัวใจชนิดเฉียบพลัน
ที่อยู่ดีๆ ก็รู้สึกว่าใจสั่น มือเย็น เท้าเย็น หัวใจจะวายตายจนต้องรีบพาตัวเองไปโรงพยาบาลแบบฉุกเฉินในช่วงกลางดึกอยู่บ่อยๆ
แต่กลับพบว่าการตรวจทุกอย่างภายในร่างกายยังคงเป็นปกติ โดยเฉพาะระดับการเต้นของหัวใจที่ผู้ป่วยหลายรายรู้สึกราวกับมันจะพุ่งทะลุออกมาด้านนอก เพียงผ่านไปไม่กี่สิบนาทีอาการเหล่านี้กลับหายไปและเข้าสู่สภาวะปกติจนต้องขอตัวกลับบ้านแบบงงๆ

photo credit: Challenge Convention
เริ่มต้นทำความรู้จักกับโรคแพนิค
อาการดังกล่าวข้างต้นที่ทำให้หลายคนต้องเข้าออกห้องฉุกเฉินเป็นว่าเล่น อาจจะมีสาเหตุมาจากโรคทางจิตเวชมากกว่าที่จะเป็นโรคทางกายแบบทั่วไป หากผู้ป่วยที่เข้ามามีอาการของโรคเพียงชั่วขณะสั้นๆ และหายไป แถมยังสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างปกติสุขหากไม่มีอาการกำเริบหรือมีตัวแปรที่เข้าไปกระตุ้น
ลักษณะเหล่านี้มักจะมาจากโรคที่หลายคนยังไม่รู้จัก ชื่อไม่ค่อยคุ้นหูและหลายเสียงแทบจะไม่เชื่อว่านี่คือโรคทางจิตเวชที่ไม่เป็นอันตรายจนถึงชีวิตอย่าง “โรคแพนิค (Panic)”
อาการของโรคแพนิคจะไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอันตรายจนถึงชีวิต แต่อาการที่เกิดขึ้นมักจะสร้างความทุกข์ทรมานเป็นอย่างมากเมื่อมันกำเริบขึ้นมา โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนที่พบได้บ่อย บางคนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ บางคนรุนแรงจนไม่สามารถทำงานหรือกิจวัตรประจำวันได้เลย ส่งผลให้จิตใจเกิดความท้อแท้สิ้นหวัง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ทราบสาเหตุ ก็สามารถเป็นต้นตอทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าตามมาได้เช่นกันค่ะ
ลักษณะและอาการของโรค
เริ่มต้นที่ผู้ป่วยบางรายยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคอะไร อาการที่พบได้บ่อยก็คือความหวาดกลัว ตกใจ มีอาการใจหวิวอย่างไม่ทราบสาเหตุ แม้จะพยายามระงับแต่ยิ่งเหมือนเข้าไปกระตุ้นให้รุนแรงมากขึ้น มือและเท้าของผู้ป่วยจะเย็น สั่น รู้สึกหนาว แต่มีเหงื่อออกตามง่ามมือง่ามเท้า มีอาการใจสั่น ผวา กลัวว่าตัวเองกำลังจะตาย อาการจะคงอยู่ประมาณ 15-30 นาที และจะค่อยๆ ทุเลาลงได้เองโดยไม่ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต
นอกจากนี้บางรายยังรู้สึกวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ พะอืดพะอม ไม่มีแรง หายใจได้ไม่ทั่วท้อง หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม และไม่สามารถนอนหลับได้ (บางรายสะดุ้งตื่นขึ้นมามีอาการในช่วงดึกโดยไม่ทราบสาเหตุด้วย) อาการเหล่านี้จะคงอยู่ประมาณ 15-30 นาที จากนั้นจะทุเลาลงและหายไปได้เอง สิ่งที่จะตามมาคือความรู้สึกเหนื่อยอ่อน ไม่สามารถนั่งทำงานได้ สูญเสียสมรรถภาพในการดำเนินชีวิต และอาจจะทำให้สิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามแผนการที่วางเอาไว้ จนเกิดอาการกังวล เครียดและรู้สึกตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น ส่งผลให้เป็นตัวกระตุ้นของการเกิดโรคได้เป็นอย่างดี
การรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดอาการ
การรักษาที่ดีควรได้รับการใช้ยาจากหมอ “จิตเวช” เท่านั้นจึงจะสามารถช่วยรักษาอาการของโรคให้หายสนิทและไม่กลับมาเป็นอีกได้ ในขั้นตอนการรักษาที่ดี ตัวผู้ป่วยเองจะต้องทราบเสียก่อนว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคแพนิค เพราะมิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถทำการรักษาได้อย่างตรงจุด
เนื่องจากแพทย์ทั่วไปจะไม่สามารถเข้าใจระบบความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในสมอง จะมีการตรวจเพียงแค่บริเวณหัวใจและตรวจคลื่นหัวใจเท่านั้น นอกจากนี้บางรายอาจจะได้รับการตรวจโรคไทรอยด์เป็นพิษร่วมด้วย หากไม่พบความผิดปกติในส่วนนี้ก็ควรเข้ารับการรักษาและตรวจวินิจฉัยจากทางจิตแพทย์อีกที
ในขั้นตอนการรักษา แพทย์มักจะให้ยาเพื่อระงับอาการ โดยจะเข้าไปทำหน้าที่ให้สารสื่อประสาทในสมองทำงานได้อย่างสมดุลมากขึ้น เป็นกลุ่มตัวยาประเภทแวเลี่ยม มีฤทธิ์กดประสาทโดยตรง
ดังนั้นยาเหล่านี้จึงไม่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาและบำบัดด้วยการฝึกปรับสภาพจิตใจของตนเองอยู่ตลอดเวลา โดยแพทย์จะให้ยาเป็นเวลา 6 เดือน และค่อยๆ ปริมาณลง หลังจากหายดีแล้ว ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาเป็นได้อีกหากเกิดความเครียด
การดูแลตัวเองโดยปรับสภาพจิตใจจึงเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาที่สำคัญ เพราะยาจะเป็นตัวช่วยได้เพียงแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจะต้องขึ้นอยู่กับผู้ป่วยในการดูแลสุขภาพจิตใจของตนเองให้ดีไปพร้อมๆ กันด้วยนั่นเองค่ะ