รู้จักและรับมือ ‘วัยทอง’ อาการที่ผู้หญิงทุกวัยต้องเจอ

วัยทองหลายคนคงเคยได้ยินคำนี้มาก่อน

แต่อาจจะไม่ได้มาลองทำความเข้าใจในอาการวัยทองกันมากนัก วัยทองในความหมายของทางการแพทย์นั้นหมายถึง ภาวะอาการอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลเพศหญิงในวัยที่หมดประจำเดือนแล้วเท่านั้น

มักจะเกิดขึ้นในช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี

และตัวการที่สำคัญก็คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งทำหน้าที่หลักในการควบคุมอวัยวะในระบบเจริญพันธุ์ การแสดงออกทางกายภาพของเพศหญิงการมีประจำเดือนและมีบุตร

ซึ่งยังมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นกระดูก เส้นโลหิต หัวใจ และสมอง เป็นต้น ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายส่วนใหญ่สร้างมาจากรังไข่นั่นเอง และเมื่อรังไข่หยุดการทำงานลงก็จะทำให้ไม่มีประจำเดือนและการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงจากรังไข่อีกต่อไป

นอกจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีการสร้างมาจากรังไข่แล้วยังมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอีกตัวหนึ่ง ซึ่งฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวนี้ที่ลดลงจะทำให้เกิดอาการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจต่างๆ ตามมาเป็นอาการของวัยทองนั่นแง

photo credit: Leaves and light III

photo credit: Leaves and light III

อาการของวัยทอง

1.อาการร้อนวูบวาบตามตัว มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ในระยะแรกและจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละคน

2.ปัญหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ เนื่องมาจากน้ำหล่อลื่นในช่องคลอดจะลดน้อยลงจากการเปลี่ยนแปลงฮร์โมนเอสโตรเจนและรวมไปถึงความต้องการทางเพศที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

3.อารมณ์หงุดหงิดและแปรปรวนได้ง่าย

4.ประจำเดือนมีความผิดปกติไป ทั้งปริมาณและระยะเวลาในการมีประจำเดือนในแต่ละครั้งเมื่อเข้าใกล้ช่วงวัยหมดประจำเดือน

5.ความจำแย่ลงและหลงลืมได้ง่ายขึ้น

6.ความเสี่ยงในการเกิดโรคหลายชนิดซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน ได้แก่ กระดูกพรุน โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคอัลไซเมอร์และมะเร็งของลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

7.ปัญหาเรื่องการนอน นอนหลับยาก ตื่นเร็ว อาจจะตื่นกลางคืนและเหงื่อออกมาก

8.การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอื่นๆ เช่น มีการสะสมไขมันตามร่างกายมากขึ้น ปวดศีรษะบ่อยๆ ผิวหนังจะแห้งและบางลงซึ่งเกิดเป็นแผลได้ง่าย ผิวหนังมีผื่นแพ้ง่าย และเส้นผมจะหยาบแห้งและบางลงเกิดการหลุดร่วงได้ง่าย เป็นต้น

9.มีอาการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะโดยจะพบได้บ่อยขึ้น ซึ่งรวมไปถึงอวัยวะสิบพันธุ์อย่างช่องคลอดและมดลูกด้วย

สิ่งที่เราต้องทำและเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยทอง

– รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ที่ย่อยง่ายเป็นหลักและเพิ่มการกินแคลเซียมให้มากขึ้นเพราะเอสโตรเจนที่ลดลงทำให้มีการสะสมแคมเซียมในกระดูกลดลง อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต พืชตระกูลถั่ว เต้าหู้ งาดำ

– ปลาที่รับประทานพร้อมก้างได้ ผักใบเขียว เป็นต้น นอกจากนี้อาหารที่รับประทานควรควบคุมระดับไขมันให้ดี โดยงดรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง

– ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ เต้นรำ รำมวยจีน เต้นแอโรบิค เป็นต้น ทั้งนี้ก็ต้องดูว่ามีโรคร่วมอื่นๆ ไหมเช่น โรคข้อเสื่อมก็อาจจะต้องเลือกการว่ายน้ำแทนการวิ่ง เป็นต้น

– ฝึกการควบคุมอารมณ์ให้มีความคิดในทางบวก ทุสมาธิอย่างสม่ำเสมอและทำจิตใจให้แจ่มใสเบิกบาน ในทางศาสนาแล้วการมีสติรู้ตัวว่าเรามีสภาวะอย่างไรจะช่วยเรื่องอารมณ์ที่แปรปรวนได้มาก

– เลิกบุหรี่และแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นปัจจัยและสาเหตุของความรุนแรงที่อาจะเพิ่มขึ้นได้ของอาการวัยทองนั่นเอง

– ตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ปีละ 1 ครั้ง ตรวจเช็คความดันโลหิต ตรวจเลือดหาระดับไขมัน ตรวจโรคที่เกิดจากความเสี่ยงต่างๆ ในช่วงอายุ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น และตรวจหาความหนาแน่นของกระดูก รวมทั้งการตรวจระดับของฮอร์โมนด้วย เพราะระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติไปมาก แพทย์สามารถพิจารณาให้ฮอร์โมนทดแทนได้

ฮอร์โมนทดแทนคืออะไร

ฮอร์โมนทดแทน คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนชนิดสกัดจากธรรมชาติโดยมีโครงสร้างเดียวกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ซึ่งจะต้องให้ร่วมกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้ผู้ที่ได้รับมีฮอร์โมนตามธรรมชาติเหมือนตอนก่อนที่จะหมดประจำเดือน

ผลของฮอร์โมนทดแทน

ผลของฮอร์โมนทดแทน คือจะไปลดอาการของวัยทองทั้งหมด เช่น ลดการซึมเศร้า เหนื่อยง่าย ใจสั่น นอนไม่หลับ ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้น อักเสบน้อยลง ผมจะร่วงน้อยลงและดกดำขึ้น ช่วยในเรื่องของความจำ ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกมากขึ้นแต่ต้องได้รับแคลเซียมและออกกำลังกายที่เหมาะสมร่วมกัน ซึ่งผลของฮอร์โมนทดแทนจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

ชนิดของฮอร์โมนทดแทน

• ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้ที่ผ่าตัดมดลูกออกแล้ว จะมีแค่ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงอย่างเดียว

• ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้หญิงที่ยังมีมดลูกอยู่ เป็นฮอร์โมนที่ประกอบด้วยเอสโตรเจนและโปรเจสเตอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดปกติหรือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

ฮอร์โมนทดแทนสำหรับผู้หญิงที่ยังมีมดลูก

• Cyclic regimen เป็นการให้ฮอร์โมนในปริมาณที่ต่างกันตามช่วงเวลาหนึ่งรอบซึ่งจะคล้ายกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายเรา แบ่งเป็นเอสโตรเจนเดี่ยว 21 วันและใน 12 วันหลังจะมีโปรเจสเตอโรนผสมด้วย ซึ่งจะทำให้มีประจำเดือนสม่ำเสมอ เหมาะสำหรับใช้กับผู้ที่อยู่ในวัยเปลี่ยนหรือวัยหมดประจำเดือนช่วงต้น

• Continuous combined regimen เป็นการให้เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรนในปริมาณที่เท่ากันทุกวัน ซึ่งจะทำให้ไม่มีประจำเดือน ฮอร์โมนแบบนี้จะเหมาะสำหรับผู้ที่หมดประจำเดือนมานานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน มีบทบาทอย่างไร

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มีอยู่ในฮอร์โมนทดแทน มีผลเพื่อใช้ในการป้องกันภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวและมะเร็งของเยื่อบุโพรงมดลูก เพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนสามารถยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ ลดการแบ่งตัวของเซลล์ และลดจำนวนตัวรับต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เซลล์เป้าหมายได้ เพราะการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนอย่างเดียวอาจจะทำให้เกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้

อาการข้างเคียงของฮอร์โมนทดแทน

– เลือดออกกะปริบกะปรอย ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงที่เริ่มใช้ฮอร์โมนทดแทน 3-6 เดือนแรกและจะหายได้เอง

– อาการเจ็บเต้านม อาการนี้จะเป็นเฉพาะช่วงแรกเท่านั้นและจะหายได้เอง

– อาการปวดศีรษะไมเกรน

– น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากฮอร์โมนหรือตามลักษณะของช่วงวัยก็ได้

เพราะสุขภาพคนเราเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องใส่ใจดูแลตลอดทุกช่วงวัย และสำหรับสาวคนไหนที่ยังอายุน้อยก็ถือว่าโชคดีอย่างมากที่คุณจะได้ทำความเข้าใจและรู้จักภาวะวัยทองกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้เตรียมรับมือกับสภาวะดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง แต่หากใครที่เข้าสู่วัยทองแล้วก็อย่าลืมลองปฏิบัติตามคำแนะนำจากเรากันบ้างนะคะ

สำคัญคือ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เริ่มจากกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอยู่เสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอและไม่เครียด เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นวิธีดูแลตัวเองเบื้องต้นง่ายๆ ที่จะทำให้คุณสุขภาพกายและใจดี ไม่มีผลกระทบอันร้ายแรงจากปัญหาวัยทองได้อย่างแน่นอนค่ะ

Related Posts