‘โรครูมาตอยด์’ หรือ ‘โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์’ โรคนี้หากเกิดขึ้นแล้วย่อมนำความทรมานมาให้ผู้ป่วยอย่างมาก เพราะเป็นโรคที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบของข้อชนิดรุนแรง หากเข้ารับการรักษาช้าเกินไปรวมถึงได้รับการรักษาอย่างไม่ถูกต้องก็ย่อมส่งผลให้ข้อเกิดความบิดเบี้ยว ไม่ปกติเหมือนเดิมและบางรายอาจมีอาการหนักถึงขั้นพิการตามมาได้ด้วย ดังนั้น หากคุณมีอาการของโรคดังกล่าวหรือยังไม่มีก็ตาม
การที่เราไม่ชะล่าใจ โดยหมั่นศึกษาทำความรู้จักและรับมือป้องกันตลอดจนเรียนรู้วิธีรักษาก็ย่อมทำให้เรารู้เท่าทันโรคและหากมีอาการในวันใดวันหนึ่ง เราจะได้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุรวมถึงรักษาให้ถูกต้องอย่างทันท่วงทีต่อไป ในวันนี้เรามีแนวทาง วิธีการรักษาและการป้องกันโรครูมาตอยด์มาแนะนำสำหรับคนรักสุขภาพให้ได้ทราบ เป็นอย่างไรนั้น ตามมาดูกันเลยค่ะ

photo credit: rheumatoidarthritis.com
วิธีการรักษาโรครูมาตอยด์
1. รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดข้อ
– ผู้ที่มีอาการยังไม่มากหรือเพิ่งเริ่มเป็นใหม่ๆ สามารถรักษาดูแลด้วยการประคบแบบร้อนหรือแช่ข้อที่ปวดอักเสบกับน้ำอุ่น
– ให้ผู้ป่วยใส่เฝือกชั่วคราวโดยเฉพาะเวลากลางคืนหรือตอนที่มีอาการปวดบวมอักเสบมาก เพื่อช่วยลดอาการปวดและยังเป็นการป้องกันไม่ให้ข้อเกิดการผิดรูปได้
– ผู้ป่วยควรหมั่นขยับตัวเคลื่อนไหวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เป็นการป้องกันไม่ให้ข้อติดแข็ง โดยเฉพาะข้อนิ้วมือและข้อมือ
– ควรหมั่นออกกำลังกายเบาๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อในส่วนของนิ้ว มือและแขน โดยอาจใช้วิธีบีบฟองน้ำ บีบลูกบอลยาง ลูกเทนนิสหรือบริหารกล้ามเนื้อมือกับเครื่องออกกำลังกายที่ใช้มือบีบประเภทอื่นๆ ร่วมด้วย นอกจากนี้ การยกน้ำหนัก 1-3 กิโลกรัมก็นับเป็นทางเลือกในการช่วยสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อได้เช่นเดียวกัน
– พยายามกระจายแรงกำลังในการใช้ข้อออกไปหลายข้อ ไม่เจาะจงใช้แค่ข้อใดข้อหนึ่งเกินไป เช่น คุณอาจจับสิ่งของด้วยมือทั้งสองข้างแทนการใช้มือข้างเดียวในการหิ้วจับ หากจะใช้ข้อเล็กก็หันมาใช้ข้อใหญ่ออกแรงแทน
– ปรับความเป็นอยู่ในบ้านให้มีความเหมาะสม เช่น หากใช้ประตูแบบลูกบิดก็เปลี่ยนมาใช้แบบเลื่อนเปิดปิดแทน หรือหากที่บ้านใช้ก๊อกน้ำแบบหมุนเปิดปิดก็เปลี่ยนมาใช้แบบที่เป็นคันโยกแทนดีกว่า แบบนี้ก็จะทำให้เราสามารถป้องกันไม่ให้อาการของโรครูมาตอยด์เกิดความรุนแรงหนักขึ้นได้แล้วค่ะ
2. การใช้ยากลุ่มระงับอาการอักเสบแต่ไม่ใช่สเตียรอยด์
– ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงนัก การรักษาด้วยการใช้ยาค่อนข้างสามารถช่วยลดอาการปวดบวมของข้อได้เป็นอย่างดี แต่หากคุณเลือกใช้ตัวยาใดตัวยาหนึ่งแล้วก็ควรทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ พร้อมเฝ้าสังเกตอาการหากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหลังจากทานยาจึงควรเปลี่ยนเป็นตัวยาชนิดอื่นต่อไป
– ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาในกลุ่มเหล่านี้ คือ ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ แสบท้อง ปวดท้อง เกิดแผลในกระเพาะอาหาร บางรายอาจมีอาการบวมตามบริเวณหน้าแขนและขา ที่สำคัญไม่ควรใช้ยากับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายชนิดเรื้อรังและควรระมัดระวังสำหรับกรณีการใช้ยาในผู้สูงอายุด้วย
– ยากลุ่มที่ใช้รักษาสำหรับผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ในปัจจุบันนั้น มียาตัวใหม่ที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้ โดยจะส่งผลกระทบให้เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้น้อยลง ทว่าตัวยาจะมีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้น หากจำเป็นต้องเลือกใช้จริงๆ ควรพิจารณาใช้กับผู้ป่วยที่มีร่างกายเสี่ยงต่อการเป็นแผลในทางเดินอาหาร เช่น ผู้ที่เคยเป็นแผลในทางเดินอาหารและผู้สูงอายุ
3. รักษาด้วยการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
ยาในกลุ่มสเตียรอยด์นั้นจัดเป็นยาที่มีผลข้างเคียงอย่างรุนแรง แต่สามารถใช้ได้ทั้งกินและฉีด โดยจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าข้อ อีกทั้งสมควรนำมาใช้ก็ต่อเมื่อมีอาการอักเสบขั้นรุนแรง หากขณะเดียวกัน ก็ไม่ควรใช้ในปริมาณสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานด้วย ด้วยเพราะผลข้างเคียงของตัวยานั้นแรงมากไปจึงอาจส่งผลให้เกิดอาการร้ายแรงต่างๆ ตามมา เช่น กระดูกพรุน ติดเชื้อง่ายและเกิดไตวายเฉียบพลัน แต่หากหยุดใช้ยาอาการอักเสบก็จะกลับมารุนแรงขึ้นได้อีก ดังนั้น จึงพิจารณาใช้ก็ต่อเมื่อมีอาการอักเสบมากจริงๆ และควรลดปริมาณการใช้ให้น้อยลงเมื่อพบว่าอาการทุเลาขึ้นแล้ว
4. รักษาด้วยยากลุ่มยับยั้งข้ออักเสบรูมาตอยด์แต่ออกฤทธิ์ช้า
– จัดเป็นยาที่ค่อนข้างมีผลข้างเคียงและอันตรายสูง แพทย์จะพิจารณานำมาใช้รักษาผู้ป่วยก็ต่อเมื่อรักษาผู้ป่วยด้วยยากลุ่มอื่นแล้วไม่ได้ผลหรือในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคอักเสบรุนแรงมาก มีรูมาตอยด์แฟคเตอร์ในกระแลเลือดสูง แต่ผลเสียคือ ยากลุ่มนี้ค่อนข้างออกฤทธิ์ช้าและต้องให้ยาติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 2 เดือนขึ้นไปจึงจะเริ่มมีผลปรากฏ
– สำหรับยาคลอโรควินนับเป็นตัวยาที่มีความปลอดภัยและนิยมนำมาใช้รักษาผู้ป่วยบ่อย เนื่องจากเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย แต่มีคุณสมบัติที่สามารถช่วยลดอาการอักเสบของโรครูมาตอยด์พร้อมกันได้ โดยแพทย์จะใช้พร้อมกับยาในข้อ 2 ทว่าจะมีผลข้างเคียงแก่ร่างกายเกิดขึ้นด้วย ได้แก่ มีอาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ ตาพร่ามัว มีผื่นคัน ผิวแห้งและผิวหมองคล้ำ หากต้องการลดอาการทางผิวหนังให้น้อยลง ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการเผชิญกับแสงแดดโดยตรง อาการทางผิวหนังก็จะทุเลาขึ้นได้ แต่หากผู้ป่วยมีผลข้างเคียงหนักมาก เช่น ตาพร่า หากเป็นเช่นนี้ สมควรให้หยุดใช้ยาค่ะ
– ยาตัวอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มนี้ เช่น ยา MTX ยาเกลือทองหรือตัวยาที่มีฤทธิ์เข้าไปกดภูมิคุ้มกันโรคภายในร่างกายให้ทำงานต่ำลง นอกจากนี้ ยังพบว่ามีตัวยาใหม่ๆ ที่เริ่มถูกนำมาใช้อีกหลายชนิดทีเดียว หากก็นับเป็นยาอันตรายซึ่งมาพร้อมผลข้างเคียงสูงมาก กรณีจำเป็นต้องใช้รักษาจริงๆ แนะนำให้ใช้โดยอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัดจะดีกว่า
5. รักษาโดยการผ่าตัด
– สำหรับการผ่าตัดโรครูมาตอยด์นั้นมีด้วยกันหลากหลายวิธี ได้แก่ ผ่าตัดเพื่อเลาะเอาเยื่อบุข้อที่มีอาการอักเสบออก ผ่าตัดเพื่อเย็บซ่อมหรือย้ายเส้นเอ็น ผ่าตัดใส่ข้อเทียมแทน ผ่าตัดเชื่อมข้อให้ติดกัน และผ่าตัดกระดูกเพื่อปรับแนวของข้อให้ตรงขึ้น ทว่าอย่างไรก็ตาม การผ่าตัดนั้นก็ยังถือเป็นการรักษาผู้ป่วยโรครูมาตอยด์เพียงแค่ปลายเหตุเพื่อช่วยบรรเทาอาการรุนแรงที่เกิดขึ้นเท่านั้น
จะเห็นได้ว่าการรักษาโรครูมาตอยด์มีแนวทางรักษาหลากหลายวิธีด้วยกัน แต่ละวิธีก็ล้วนมาพร้อมผลข้างเคียงทั้งสิ้น ซึ่งต้องใช้วิธีรักษาด้วยยาในกลุ่มที่มีผลข้างเคียงและอันตรายสูง อีกทั้งยังเป็นการรักษาแบบประคองอาการไม่ให้อักเสบรุนแรงหนักแต่เพียงเท่านั้น ตลอดจนถึงวิธีรักษาด้วยการผ่าตัดหลายประการซึ่งก็แล้วแต่อาการของผู้ป่วย
ทั้งนี้ ทั้งนั้น การที่คนเราจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงได้จึงควรเริ่มจากการดูแลตัวเองตั้งแต่ยังเยาว์วัย หรือตั้งแต่สมัยหนุ่มสาวไม่ควรปล่อยปละละเลยให้เข้าสู่วัยกลางคนหรือปล่อยให้ร่างกายเข้าสู่วัยเลข 3-4 ไปแล้ว จึงคิดจะพบแพทย์เพื่อรักษาอาการผิดปกติหรือกรณีที่เกิดการเจ็บป่วยหนักจริงๆ
สำหรับวิธีดูแลสุขภาพขั้นเบื้องต้นก็แค่ทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอยู่เสมอ โดยเฉพาะการออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำนับว่าเป็นกีฬาที่ช่วยถนอมกระดูกข้อ หรือป้องกันไม่ให้ข้อทุกส่วนของร่างกายได้รับความกระทบกระเทือนได้ดีเยี่ยมที่สุด เมื่อเทียบกับการออกกำลังกายประเภทอื่นๆ หากคุณทำได้เบื้องต้นตามนี้ การมีสุขภาพดีก็ย่อมอยู่ไม่ไกลแล้วค่ะ หรืออย่างน้อย… เราก็ยังมั่นใจได้ว่าเมื่อร่างกายแข็งแรงอาการเจ็บป่วยต่างๆ ย่อมมาเยือนเราได้น้อยลงที่สุด