“ Panic Disorder ” ชื่อโรคที่อาจจะดูไม่คุ้นชินเท่าใดนักสำหรับพวกเรา
แต่ทว่ากลับเป็นอาการของโรคที่เกิดขึ้นกับผู้คนรอบๆ ตัวเราไม่ใกล้ไม่ไกลกันไปมากนัก
และไม่ใช่โรคที่เกิดขึ้นใหม่ แต่มันสอดแทรกอยู่ในสังคมของเรามายาวนานแล้ว
เพียงแต่ว่าเรายังไม่แน่ใจไม่แน่ชัดกับอาการของโรคที่เกิดขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วสิ่งที่เราเป็นและหาสาเหตุไม่ได้อยู่ในตอนนี้ก็อาจจะเป็นอาการของแพนิคอยู่ก็เป็นได้
เราอาจจะรู้จักชื่อของแพนิคแบบภาษาชาวบ้านๆ ในชื่อว่า “โรคหัวใจอ่อน” หรือ “อาการประสาทลงหัวใจ”
โดยอาการของมันที่เกิดขึ้นจะทำให้เรารู้สึกได้ถึงการเต้นของหัวใจที่รุนแรง มือสั่น ตัวสั่น รู้สึกหนาว แต่มีเหงื่อออก ปลายมือปลายเท้าเย็น หายใจไม่เต็มอิ่ม แน่นหน้าอก มึนหัว อยากอาเจียน รู้สึกเหมือนตัวเองกำลังจะหัวใจวาย จนทำให้เกิดอาการหวาดกลัว จนไปกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น
สังเกตอาการอย่างไรว่าตัวเองเป็นแพนิค
จริงๆ แล้วโรคแพนิคไม่ใช่โรคที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต และไม่มีทางทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ เพียงแต่โรคนี้จะส่งผลกับชีวิตประจำวันของเรา
ทำให้เรารู้สึกกลัวเหมือนกำลังจะตาย หากผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นโรคนี้มาก่อน ก็อาจจะคาดเดาไปต่างๆ นาๆ ว่า ตนเองเป็นโรคหัวใจ หรือรู้สึกเหมือนว่าตัวเองกำลังจะเป็นบ้า
อาการเหล่านี้จะคงอยู่ประมาณ 10 นาที ก่อนจะค่อยๆ ทุเลาลง และอาจจะมีการกลับมาเป็นอีกซ้ำได้ภายในชั่วโมง และสามารถเกิดได้หลายครั้งต่อวัน จนทำให้หลายคนเกิดอาการหวาดกลัวว่าตนเองจะกลับมาเป็นอีก
โดยทั่วไปอาการของโรคแพนิคไม่สามารถคาดเดาได้แน่ชัดว่ามันจะกำเริบขึ้นมาเมื่อใด เมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว มักจะรีบพาตัวเองไปโรงพยาบาล และมักจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเครียดหรือกังวลมากจนเกินไป
โดยที่แท้จริงแล้วผู้ป่วยอาจจะไม่ได้มีอาการเครียดมาก่อนหน้านี้ก็เป็นได้ ซึ่งอาการตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น เป็นโรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่แพทย์มักจะแนะนำให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิด อย่างคาเฟอีน การออกกำลังกายที่หนักๆ ร่วมกับการรับประทานยาป้องกันและยาฉุกเฉินเมื่อมีอาการ
สำหรับใครที่มีอาการดังที่กล่าวไปข้างต้นจนต้องไปพบแพทย์อยู่บ่อยครั้ง ก็อาจจะสันนิษฐานตัวเองได้ว่าเป็นอาการของโรคแพนิค
เพราะทุกครั้งที่ไปถึงโรงพยาบาลอาการก็มักจะทุเลาลงและกลับสู่สภาพปกติในทุกครั้ง ดังนั้นการรักษาอาการอาจจะต้องรักษาด้วยแพทย์เฉพาะทางที่มีความเข้าใจต่อโรคจริงๆ เพราะจะช่วยให้ความตื่นตระหนกที่เกิดขึ้นลดลงและส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น
Photo Credit: skippyjon