ปวดศีรษะแบบไหน?อันตราย ต้องรีบไปหาหมอ

พูดถึงอาการปวดศีรษะ หรือปวดหัว น้อยคนนักที่ไม่เคยเป็น โดยส่วนมากจะมีอาการไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แค่นอนพักหรือทานยาแก้ปวดก็หาย

แต่บางคนอาจเป็นบ่อยๆจนมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพเรียนหรือทำงานแย่ลง และกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก หรือบางคนอาจมีอาการปวดศีรษะที่รุนแรงมาก ถึงแม้จะเกิดแค่ครั้งเดียวแต่สามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

จะเห็นว่าอาการปวดศีรษะธรรมดา ในบางครั้งส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและความสุขในการใช้ชีวิตพอสมควร ในบทความนี้จะขอเล่าถึงอาการปวดศีรษะแบบต่างๆ รวมถึงสัญญาณอันตรายที่ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน เพื่อการตรวจและรักษาได้ทันท่วงที

ประเภทของอาการปวดศีรษะ แบ่งได้ 3 ประเภท

1.แบบไม่พบสาเหตุแน่ชัด

อาจมาจากหลายโรค หรือเกิดจากการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่ไวกว่าคนปกติ เช่นแสงแดดจ้า เสียงดัง อาหารบางชนิด หรือมีความเครียด ใช้ความคิดมากเกินไป กล้ามเนื้อของศีรษะและต้นคอเกร็ง ตึงตัว แบ่งได้เป็น 3 ชนิด

-ปวดศีรษะจากความเครียด หรือจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว อาการปวดชนิดนี้เกิดขึ้นบ่อยมากที่สุด

อาการ ปวดศีรษะทั้งสองข้างคล้ายโดนบีบรัดบริเวณศีรษะบางคนอาจปวดตื้อไปทั่วศีรษะ
สาเหตุ ความเหนื่อย ความเครียด ความวิตกกังวล การนอนผิดท่า พักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังคอหรือหนังศีรษะเกิดการเกร็งตัว

-ปวดศีรษะไมเกรน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายในส่วนสัด 2 ต่อ 1


อาการปวดตุบ ๆ เป็นจังหวะเหมือนชีพจรกำลังเต้น ปวดข้างเดียวเป็นส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องซ้ำข้างเดิม หรืออาจปวด 2 ข้างก็ได้ อาจมีอาการข้างเคียงเช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร รู้สึกหนาวหรือร้อน ปวดท้อง ตาพร่ามัว หรือเห็นแสงสีร่วมอยู่ด้วย

สาเหตุ มาจากพันธุกรรมได้ส่วนหนึ่ง และยังสันนิษฐานว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับสารเคมี เส้นประสาท หรือเส้นเลือดในสมองรอบกระโหลกศีรษะ ระบบรับความรู้สึกไวกว่าปกติโดยปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดเช่น
-อากาศร้อน แดดร้อน กลิ่นน้ำหอม กลิ่นเหม็น ควันบุหรี่ ควันจากท่อไปเสีย
-ฮอร์โมนเพศหญิง มีประจำเดือนหรือแม้แต่การตั้งครรภ์ในระยะแรก
-อาหารบางชนิด
-ภาวะขาดน้ำ ความหิว

-ปวดศีรษะคลัสเตอร์ พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงถึง 5-6 เท่า และมักพบในคนสูบบุหรี่

อาการ อาการปวดศีรษะรุนแรงและทรมานมาก ซึ่งมักจะปวดตุบๆ เป็นชุด ๆ อยู่ประมาณ 30-90 นาทีไปจนถึง 3 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง ที่กระบอกตา หรือรอบๆ ตา หรือที่บริเวณขมับ และมักจะเป็นข้างเดียว มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำตาไหล ตาแดง น้ำมูกไหล เหงื่อออก ลืมตาได้ไม่เต็มที่

2.ปวดศีรษะแบบทราบสาเหตุแน่ชัด

เป็นอาการปวดศีรษะที่เป็นผลมาจากโรคหรือความผิดปกติของโครงสร้างบริเวณคอหรือศีรษะ เช่น

โรคไซนัสอักเสบ จะมีอาการปวดตื้ออย่างต่อเนื่องบริเวณโหนกแก้ม หน้าผาก สันจมูก มักมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก มีไข้ อาการปวดมักจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการก้มตัวไปข้างหน้าหรือนอนราบ

การติดเชื้อที่หูชั้นกลาง ปัญหาผิดปกติของฟัน ความดันโลหิตสูง เนื้องอกในสมอง โรคหลอดเลือดในสมองโป่งพอง

3. ปวดศีรษะจากเส้นประสาทและอื่นๆ

เช่นเส้นประสาทคู่ที่ 5 อักเสบ ซึ่งควบคุมความรู้สึกบนใบหน้า จะมีอาการปวดสั้นๆ ปวดแปล๊บๆเหมือนไฟฟ้าช็อตที่ใบหน้า

โดยรวมแล้วอาการปวดศีรษะมักจะรักษาได้ แต่ไม่หายขาด ในรายที่ไม่อันตราย ช่วงที่หายจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ และเมื่อกลับมาปวดอีกครั้งมักจะเปลี่ยนตำแหน่งได้ บางครั้งอาจมีสาเหตุจากสิ่งกระตุ้นชัดเจนเช่นความเครียด แสงแดด เป็นต้น

แต่มีอาการปวดศีรษะบางอย่างที่เป็นสัญญาณเตือนก่อนที่จะเกิดภาวเสี่ยง เป็นอันตรายแก่ชีวิตอื่นๆได้ เช่นเส้นเลือดในสมองโป่งพอง เนื้องอกในสมอง เยื้อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งสรุปได้ 7 ข้อด้วยกัน

7 สัญญาณอันตรายปวดศีรษะ หากเกิดอาการต่อไปนี้ต้องรีบไปพบแพทย์

1.มีอาการปวดศีรษะแบบทันทีทันใด รุนแรงมากแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ยิ่งถ้าเป็นอาการที่เกิดขึ้นครั้งแรกในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี เพราะอาจเป็นเส้นเลือดในสมองโป่งพอง หรือเนื้องอกในสมองได้

2. มีอาการของระบบประสาทร่วมด้วยเช่น ตามืดข้างเดียว ปากเบี้ยว ชาอ่อนแรงครึ่งซีก

3. มีการกระทำบางอย่างกระตุ้นให้ปวด เช่น
-ปวดศีรษะมากขึ้นเมื่อที่เปลี่ยนท่านั่ง นอน ยืน ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบน้ำในโพร่งสมองและไขสันหลัง หรือกระดูกต้นคอ
-ไอ จาม หรือ เบ่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มแรงดันในกะโหลกศีรษะมากขึ้น

4. ปวดศีรษะพร้อมกับมีไข้และคอแข็งร่วมด้วย

5.อาการปวดศีรษะในผู้ป่วยโรคมะเร็ง SLE ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV

6.ปวดศีรษะข้างเดียว หรือที่เดียวกันทุกครั้ง

7.ปวดศีรษะมากขึ้นเรื่อยๆ และไม่ตอบสนองต่อการรักษา

ถึงอาการปวดศีรษะจะเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากมีสัญญาณตามที่กล่าวมาแล้ว ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติม เช่น x-ray ,MRI ,เจาะเลือด วัดความดันโลหิต เป็นต้น เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง ปลอดภัย และทันท่วงที

 

ขอขอบคุณที่มา

https://www.vejthani.com

https://www.phyathai.com

https://www.pobpad.com

Related Posts