“นิ้วล็อค” โรคยอดฮิตของสังคมยุคสมาร์ทโฟน

อาการ นิ้วล็อค กลายมาเป็นอีกหนึ่งโรคที่คนในวัยหนุ่ม – สาว เริ่มเป็นกันมากขึ้น โดยมีสาเหตุมาจากการใช้งานนิ้วมือที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งจากการทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือเป็นหลัก อย่างการใช้งานคอมพิวเตอร์ การพิมพ์งาน การทำงานด้วยออกแบบกราฟิก โปรแกรมเมอร์ ที่ต้องใช้มือในการสร้างสรรค์ผลงาน

แต่เดี๋ยวนี้หลายคนที่ไม่ได้ทำงานที่ต้องใช้งานมือหนักๆ เหมือนกับตัวอย่างอาชีพที่กล่าวมา แต่ก็ประสบปัญหาอาการนิ้วล็อค
เป็นเพราะการใช้โทรศัพท์มือถือ แท๊ปเล็ต สมาร์โฟน มากเกินไป จนทำให้นิ้วมือและข้อมือเกิดอาการล้า
นานวันเข้าความเมื่อยล้าที่สะสมลงในกล้ามเนื้อและเส้นประสาทบนนิ้วมือก็เรื้อรังจนรุนแรงสู่อาการป่วยด้วยโรคนิ้วล็อค

ใครที่ยังไม่อยากกลายเป็นผู้ป่วยอาการนิ้วล็อค ลองทำความรู้จักและศึกษาวิธีป้องกันโรคยอดฮิตของคนยุคนี้กันดีกว่า

โรคนิ้วล็อค คืออะไร

โรคนิ้วล็อค (Trigger Finger)

เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของนิ้วมือที่พบได้บ่อยมากที่สุด โดยเกิดจากการที่ผู้ป่วยกำมือแน่นและงอนิ้วมือต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และทำซ้ำๆ จนทำให้เกิดการอักเสบบริเวณเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่ฝ่ามือที่ทำหน้าที่ใน การงอนิ้วมือที่แถวโค่นนิ้วมือแต่ละนิ้ว จนส่งผลให้ปลอกหุ้มเอ็นหนาตัวขึ้น เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านไปมาไม่สะดวก เกิดการฝืด ขัด เจ็บ

รู้สึกลำบากเวลางอและเหยียดนิ้วมือ ซึ่งเส้นประสาทที่พาดผ่านบริวณข้อมือไปถึงแขนคอยทำหน้าที่รับรู้ความรู้สึกที่บริเวณมือ
เมื่อเส้นประสาทดังกล่าวถูกกดทับเนื่องจากการอักเสบและการหนาขึ้นของปลอกหุ้มเอ็น ส่งผลให้มือชา อ่อนแรง ปวดที่โคนนิ้ว ปวดร้าวไปยังท่อนแขนหรือต้นแขน

โดยโรคนิ้วล็อคพบได้ทั้งกลุ่มคนวัยทำงานไปจนถึงวัยชรา แต่จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
คือกลุ่มคนที่ต้องทำงานในลักษณะที่มีการเคลื่อนไหวมือซ้ำๆ เช่น

คนที่ทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เกือบตลอดเวลา เพราะต้องจับเมาส์ท่าเดิมตลอดเวลา รวมทั้งในกลุ่มงานเชี่ยงชาญเฉพาะด้านที่ต้องใช้มือในการทำงาน เช่น ช่างไม้ ช่างตัดเสื้อ นักเขียน คนทำครัว แม่บ้าน คนทำสวน และยังรวมไปนักกีฬาบางประเภทที่ต้องใช้มือจับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น นักกอล์ฟ นักเทนนิส นักปิงปอง เป็นต้น

สาเหตุหลักของอาการนิ้วล็อค

เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่ใช้ในการงอนิ้วมือซึ่งอยู่บริเวณ ช่วงโค่นของนิ้วมือ โดยเส้นเอ็นที่บาดเจ็บจะเกิดการหนาตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การขยับเคลื่อนไหวของนิ้วทำได้ยาก

การเหยียดนิ้วเพื่อทำกิจกรรมต่างในชีวิตประจำวันเป็นไปด้วยความยากลำบาก หากอาการรุนแรงมากนอกจากจะรู้สึกเจ็บปวดแปร๊บๆ บริเวณนิ้วแล้ว บางครั้งนิ้วจะมีเกิดการค้างตึงไม่สามารถยึดเหยียดได้สุด หรือเมื่อเหยียดออกไปแล้วไม่สามารถงอกลับมาได้

สำหรับเหตุที่ทำให้เกิดอาการอักเสบที่เส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็นที่บริเวณนิ้วนั้นอาจ
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่หลักๆ แล้วเกิดจากการใช้งานนิ้วมือหนักและนานเกินไป โดยไปสร้างแรงกดทับและเสียดสีให้กับเส้นเอ็น ทั้งจากการยกของหนักเป็นประจำ คนที่ทำกิจกรรมที่ต้องมีการกำมือแน่นเกือบตลอดเวลา

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการที่ในยุคนี้ผู้คนมีการใช้งานคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดการป่วยโรคนิ้วล็อค เพราะนิ้วมือถูกใช้งานหนักต่อเนื่องซ้ำๆ ซึ่งทำให้กล้ามเนื้อนิ้วมือและฝ่ามือเกิดอาการเมื่อยล้า ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบได้เช่นกัน

อาการเจ็บป่วยด้วยโรคบางประเภทก็เป็นต้นเหตุให้เกิดอาการนิ้วล็อคได้ เช่นกัน ทั้งผู้ปวยโรคข้อรูมาตอยด์ และผู้ป่วยโรคเบาหวาน

อาการนิ้วล็อค

อาการของโรคนิ้วล็อคสามารถแบ่งตามระดับของรุนแรงของอาการป่วยได้ 4 ระดับ

ระดับที่ 1

มีอาการปวดบริเวณโค่นนิ้วมือ กดแล้วรู้สึกเจ็บ เวลางอหรือเหยียดนิ้วอาจจะรู้สึกขัดๆ แต่ก็ยังไม่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการนิ้วล็อคสามารถเกิดขึ่นได้กับทุกนิ้ว อาจเกิดกับนิ้วใดนิ้วหนึ่งหรือเกิดพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้
โดยนิ้วโป้งจะมีภาวะเสี่ยงต่ออาการนิ้วล็อคมากกว่านิ้วอื่น

ระดับที่ 2

เริ่มมีอาการสะดุดเวลางอและเหยียดนิ้ว บางครั้งอาจรู้สึกปวด แต่เมื่อเหยียดและงอสลับกันไปสักพักอาการปวดก็หายไปยังสามารถเหยียดนิ้วได้สุด

ระดับที่ 3

นิ้วเริ่มมีอาการติดล็อค งอและเหยียดได้ไม่สุด ต้องใช้มืออีกข้างช่วยยืดถึงจะสามารถเหยียดนิ้วที่มีอาการนิ้วล็อคได้สุด เวลางอนิ้วก็มีอาการแบบเดียวกัน

ระดับที่ 4

นิ้วติดล็อคไม่สามารถเหยียดให้สุดได้ โดยมักจะเกิดกับนิ้วมือข้างที่ถนัดหรือใช้งานอยู่เป็นประจำ นิ้วจะมีอาการบวมชาแข็ง รุนแรงถึงขั้นใช้งานไม่ได้เลย

วิธีรักษานิ้วล็อค

1. สำหรับการรักษาในทางการแพทย์

ขั้นแรกจะเริ่มต้นด้วยการให้ผู้ป่วยรับประทานยาลดการอักเสบ ลดอาการปวดและบวม โดยที่ผู้ป่วยเองก็ต้องพยายามพักการใช้นิ้วที่มีอาการล็อค เพื่อให้อาการหายได้ในเร็ววันที่สุด

2. ใช้วิธีทางกายภาพบำบัค

โดยการใส่เครื่องพยุงนิ้วและข้อมือ ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ใส่ในช่วงเวลากลางคืนเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมืองอในช่วงเวลากลางคืน
ป้องกันอาการเส้นเอ็นและเยื่อบุข้อมือที่มีอาการอักเสบอยู่ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นอีก จากการที่เส้นประสาทถูกกดทับ

3. วิธีฉีดยาสเตียรอยด์

ถ้าอาการเป็นมากขึ้น แพทย์อาจจะใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์ตรงจุดที่มีอาการนิ้วล็อค ตัวยาจะเข้าไปช่วยลดอาการอักเสบ ปวด และบวม ซึ่งการฉีดยาสเตียรอยด์จะช่วยให้อาการนิ้วล็อคดีขึ้น อาการเจ็บตึงปวดจะหายไป นิ้วที่ยึดล็อคอยู่ก็จะเริ่มคลายกลับมาใช้งานได้ปกติ

แต่การรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์ก็มีข้อจำกัด
เพราะเป็นการรักษาแบบชั่วคราว การฉีดยาสเตอรอยด์ไม่สามารถทำได้บ่อยครั้ง ขึ้นอยู่กับคำแนะนำของแพทย์

4. รักษาด้วยการผ่าตัด

การรักษาด้วยวิธีการในข้อ 1 – 3 จะได้ผลดีในกรณีที่ยังมีอาการไม่มาก เส้นประสาทยังไม่ถูกกดทับมากนัก หากอาการเป็นมากอาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งถือเป็นการรักษาที่ช่วยให้อาการหายขาด โดยการผ่าตัดจะตัดเอาส่วนของผังผืดที่ปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาออก เพื่อให้เส้นเอ็นสามารถเคลื่อนผ่านได้สะดวกเหมือนปกติ

ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากๆ หากไม่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดให้หายกลับมาเป็นปกติ ปล่อยให้อาการป่วยเกิดขึ้นนานวันเข้า
เอ็นและเส้นประสาทจะถูกบีบรัดจนถึงขั้นทำให้มือพิการผิดรูป จนอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้อีกเลย

วิธีป้องกันนิ้วล็อค

1. ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องกำมือ งอมือ และเกร็งข้อมือติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หากจำเป็นต้องทำ ก็ควรหยุดพักการใช้งานมือ 15 – 25 นาทีทุกๆ 1 ชั่วโมง

2. ฝึกการใช้มือใหถูกต้องเหมาะสม เช่น การเขียนหนังสือควรใช้ปากกาที่มีขนาดพอดี ไม่เล็กเกินไป เขียนได้ลื่นไหล เวลาเขียนไม่ควรต้องออกแรงมากเกินไป หรือการใช้งานเมาส์คอมพิวเตอร์ ก็ควรใช้แผ่นรองเมาส์ที่มีส่วนสำหรับรองข้อมือ ลดอาการเมื่อยล้าหรืออาการเกร็งข้อมือและฝ่ามือ รวมถึงการพิมพ์ดีด หรือพิมพ์คอมพิวเตอร์

ควรวางมือที่พิมพ์ให้อยู่ในระดับที่ข้อศอกขนานกับพื้นหรือต่ำกว่าแนวของข้อศอก เล็กน้อย เป็นท่าที่ข้อมือรู้สึกสบายกว่าท่าที่ยกสูงเกินจากแนวข้อศอก

3. เมื่อเสร็จสิ้นการทำงานในแต่ละวันอาจจะพักข้อมือและนิ้วด้วยการนำไปแช่ใน น้ำอุ่น บีบนวดเบาๆ และทำท่ากำมือแล้วแบมือในน้ำอุ่น จะช่วยทำให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามที่มีอาการเมื่อยล้า ช่วยให้การเคลื่อนของข้อและนิ้วมือทำได้ดีขึ้น

4. ผ่อนคลายฝ่ามือ ข้อมือ และนิ้ว ด้วยท่าบริหารมือที่สามารถทำได้ง่าย เช่น ท่าดัดนิ้วดันลง คือท่าที่ยกแขนขึ้นยืดตึงระดับไหล่
แล้วใช้มืออีกข้างดันข้อมือโดยจับที่นิ้วทั้งหมดงอลง นิ้วมือเหยียดสุด ทำค้างไว้ 5 –10 วินาที ทำซ้ำ 5 – 10 ครั้งต่อเซ้ต สลับทำกับมือทั้ง 2 ครั้ง ทำวันละ 2 – 3 เซ็ต หรือท่ากระดกข้อมือ โดยใช้มือกำขวดน้ำที่มีน้ำอยู่น้ำหนักพอเหมาะ ยืดแขนตรงไปข้างหน้าระดับไหล่ จากนั้นคว่ำมือลงและกระดกมือขึ้นช้าๆ ทำสลับกัน 10 – 15 ครั้งต่อเซ็ต ทำกับมือทั้ง 2 ข้าง วันล่ะ 2 – 3 เซ็ต

วิธีสังเกตอาการ

– มีอาการชา หรือรู้สึกแปล๊บๆ คล้ายกับไฟฟ้าช็อตเมื่อคาะลงบริเวณข้อมือที่มีเส้นประสาททอดผ่าน อาการลักษณะนี้มักจะเกิดจากการที่เส้นประสาทตรงส่วนนี้ถ้าหากถูกกดทับเป็นเวลานานจากการงอของข้อมือหรือจากการถือของหนัก การกำมือเป็นเวลานานๆ
จะทำให้กล้ามเนื้อบริเวญฝ่ามือด้านนิ้วหัวแม่มือแฟบลง

– มีอาการเมื่อยล้าบริเวณนิ้วมือ ฝ่ามือ และข้อมือ บ่อยครั้ง รู้สึกว่านิ้วมือเคลื่อนไหวได้ไม่ค่อยสะดวก มีอาการตึง เหยียดหรืองอนิ้วได้ไม่สุดเหมือนปกติ หยิบจับของไม่ถนัด

อาการนิ้วล็อค เป็นอาการป่วยที่เกิดขึ้นจากการสะสมพฤติการณ์การใช้นิ้วมือและข้อมือที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงเป็นอาการป่วยที่ป้องกันได้ ถ้ารู้จักดูแลและป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ มือและนิ้วมือเป็นอัวยะสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นอย่าลืมหาเวลามาดูแลเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต่อไปได้อีกยาวนาน

Ref: https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases–conditions/trigger-finger

Related Posts