ตรวจสุขภาพประจำปี เคล็ดลับเสริมสุขภาพดีอย่างที่ไม่ควรมองข้าม

อย่าเพิ่งคิดกันนะคะว่าร่างกายของเรายังแข็งแรงสมบูรณ์ดีอยู่

จนพลอยมองข้ามการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม

แม้ในตอนนี้เรายังไม่มีอาการเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง หรือแม้กระทั่งอาการเจ็บไข้เล็กๆ น้อยๆ ก็ยังไม่ค่อยเป็น

จนหลงเข้าข้างตัวเองคิดว่าร่างกายยังมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดี

เพราะในความเป็นจริงความเสื่อมสภาพของร่างกายเกิดขึ้นตลอดเวลาตั้งแต่แรกที่เราถือกำเนิดขึ้น เซลล์ต่างๆ ก็เข้าสู่การทำงานตลอดเวลา ทั้งการสร้างและเสื่อมสลายลงอย่างต่อเนื่อง บวกรวมกับสภาพแวดล้อมและการพฤติกรรมการใช้ชีวิตในปัจจุบันยังเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่จะทำโรคร้ายค่อยๆ คืบคลานเข้ามาโดยที่เราไม่ทันได้ระวังตัว

ตรวจสุขภาพประจำปี

photo credit: judy_and_ed

การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม ไม่เว้นแม้กระทั่งในคนที่ยังดูแข็งแรง เพราะโรคบางชนิดจะไม่แสดงอาการจนกว่ามันจะรุนแรงและไม่สามารถรักษาได้อีกต่อไป

การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจึงเปรียบเสมือนการคัดกรองโรคในร่างกาย เป็นปราการป้องกันภัยด่านแรกที่เราจะได้รู้ว่าตอนนี้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในและความเสี่ยงที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อทราบแล้วจะได้หาทางป้องกันและดูแลตัวเองให้มากขึ้นได้

เป้าหมายของการตรวจสุขภาพประจำปี

คงไม่มีใครสงสัยเป้าหมายของการตรวจสุขภาพประจำปีว่ามีประโยชน์อย่างไร เพราะการตรวจสุขภาพก็คือการสแกนหาความผิดปกติที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตัวเองและเป็นการวินิจฉัยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดโรคในอนาคต หลังการตรวจจะทำให้เราทราบได้ว่า ณ ตอนนี้ร่างกายยังมีสภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงหรือมีโรคชนิดใดกำลังแฝงตัวอยู่ภายในหรือไม่

อายุที่เหมาะสมสำหรับการตรวจสุขภาพ

อายุโดยเฉลี่ยที่มักจะได้รับคำแนะนำให้ตรวจสุขภาพ คือช่วง 35 ปีขึ้นไปในกลุ่มที่ไม่มีความเสี่ยงทางประวัติครอบครัวและมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงครบทุกประการ เนื่องจากในช่วงอายุนี้ร่างกายจะเข้าสู่ความเสื่อมสภาพมากกว่าที่ผ่านมา การซ่อมแซมและถูกใช้งานมาอย่างหนักไม่มีประสิทธิภาพดังเช่นเมื่อก่อน

แต่หากใครที่มีโรคประจำตัว ความผิดปกติทางร่างกายหรือประวัติครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคเรื้อรังมาก่อน จะต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และโดยเฉลี่ยของการตรวจร่างกายจะอยู่ที่  3-5 ปีต่อครั้ง แต่หากมีความเสี่ยงอาจจะต้องตรวจซ้ำตามความเป็นไปได้ที่จะเกิดโรคในอนาคต

หลักในการตรวจสุขภาพอย่างถูกวิธี

เนื่องจากในปัจจุบันกระแสการตรวจสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้น จนทำให้โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนหันมาทำแพคเกจตรวจสุขภาพแบบเบ็ดเสร็จในชิ้นเดียวที่สามารถตรวจได้แบบครบวงจร ทำให้ผู้คนคิดว่านั่นเป็นประโยชน์ของการตรวจโรคที่เหมาะสม และจะช่วยให้ตัวเองห่างไกลจากความเจ็บป่วยได้ง่าย

ในความเป็นจริงการตรวจโรคด้วยวิธีข้างต้นเป็นเพียงเรื่องของธุรกิจและการหาเงินเข้าสถาบันการแพทย์ของตนเองมากขึ้นเท่านั้น เปรียบเสมือนการตรวจแบบหว่านแห และไม่สามารถวินิจฉัยโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้แม่นยำมากพอ ดังนั้นการตรวจที่เหมาะสม คือการตรวจตามความเสี่ยง เช่น กรณีที่ผู้เข้ารับการตรวจมีประวัติครอบครัวเคยป่วยเป็นโรคเบาหวาน

ดังนั้นตนเองจึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นเบาหวานมากกว่าคนทั่วไป การตรวจจึงเน้นไปที่การตรวจเลือด วัดระดับน้ำตาล ไขมัน และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยเป็นพิเศษ จากนั้นแพทย์จะต้องให้คำแนะนำให้ผู้เข้ารับการตรวจสามารถกลับไปดูแลตัวเอง หรือในบางรายอาจจะได้รับยาป้องกันกรณีที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ด้วย

การแบบสุ่มเดาจึงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเราจะมีสุขภาพที่แข็งแรงดีอยู่หรือไม่ ซึ่งบางรายก็อาจจะมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่มีบางผลตรวจที่ผิดปกติเพียงเล็กน้อยก็ถูกวินิจฉัยเอาแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค บางรายถูกให้ยามารับประทานทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น จนกลายเป็นผลข้างเคียงจากการกินยาที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่า

การตรวจโรคที่ถูกต้องจะต้องมีขั้นตอนที่เป็นมาตรฐาน ไม่ใช่การหว่านแห โดยเริ่มต้นจากการคัดกรองเพื่อให้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยอาจจะซักจากประวัติ พฤติกรรมการกิน อายุ เพศ หน้าที่การงาน เชื้อชาติ การออกกำลังกาย การใช้สารเสพติด กิจวัตรประจำวันและโรคประจำตัวอื่นๆ

ความเสี่ยงจึงไม่สามารถตรวจหาได้จากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเพียงอย่างเดียว เพราะหากผู้เข้ารับการตรวจยังกลับไปใช้ชีวิตที่ทำลายสุขภาพต่อไป ก็อาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ นอกเหนือจากการคาดเดาตามมาได้

การคัดกรองจึงจะช่วยประหยัดเงิน เวลา และให้ความแม่นยำในการตรวจมากกว่า หลังจากตรวจสุขภาพเสร็จสิ้นแล้ว แพทย์จะต้องให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิตประจำวันที่เหมาะสม ทั้งเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย เพราะความเสี่ยงของโรคที่คาดเดาเอาไว้อาจจะไม่เกิดขึ้นหากผู้เข้ารับการตรวจหันมาดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยยืดเวลาไม่ให้โรคภัยไข้เจ็บเข้ามาบั่นทอนชีวิตของเราได้นั่นเองค่ะ

Related Posts