รู้หรือไม่… หากร่างกายของเราขาดอากาศเพียง 4 นาทีจะทำให้เราเสียชีวิต และในแต่ละวันมนุษย์ต้องหายใจเอาอากาศเข้าไปในร่างกายประมาณ 18 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าอาหารและน้ำดื่มที่เราบริโภคในแต่ละวันถึง 15 เท่า
เป็นความจริงที่ทำให้ “อากาศ” คือสิ่งมีค่าที่สุดอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิตอยู่ของมนุษย์ แต่เพราะเราไม่สามารถมองเห็นอากาศได้ด้วยตาเปล่า ทำให้ที่ผ่านมาไม่ค่อยเห็นความสำคัญเท่าที่ควร และบางคนเห็นเป็นเรื่องไกลตัวตราบใดที่ยังไม่ส่งผลกระทบกับตัวเองหรือคนใกล้ตัว
แต่เมื่อมีกระแสข่าวเรื่องฝุ่น PM 2.5 ปนเปื้อนในอากาศเกินค่ามาตราฐาน เป็นข่าวใหญในบ้านเรามาตั้งแต่ต้นปี ทำให้คนจำนวนมากได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ทั้งต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง เป็นผื่นแพ้ แสบตา
อากาศที่อยู่รอบตัวเรานั้น ส่วนใหญ่ จะประกอบด้วยก๊าซไนโตรเจน 78% และออกซิเจน 21 % และก๊าซอืนๆอีก 1%เช่นก๊าซอาร์กอน และก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์
นอกจากนี้ในอากาศ ยังมี ส่วนประกอบของ สิ่งปนเปื้อนเล็กๆที่ยังมองไม่เห็น เช่น ฝุ่นและมลพิษ อนุภาคของควันที่มาจากรถยนต์ เครื่องบิน และโรงงานอุตสาหกรรม มีขนาดเล็กมากสามารถแทรกตัวเข้ามาในอากาศได้
ปัจจุบันเราสามารถรดูรายงานคุณภาพอากาศจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้เช่นกรมควบคุมมลพิษ โดยดูจากตัวเลข AQI (Air Quality Index)ที่มาจากการเอาค่ามลพิษ 6 ตัวในอากาศมาคำนวณคือ
ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)
ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10)
ก๊าซโอโซน (O3)
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO)
ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
AQI มีค่าน้อยเท่าไหร่ หมายถึง มีค่าปนเปื้อนน้อย และอากาศ ค่อนข้างจะสะอาด เวลาที่เราอยู่นอกบ้าน ท่ามกลาง ค่า AQI ที่สูงเกินกว่า 100 เปรียบเทียบได้กับเราสูดอากาศเสียจากการรถยนต์เข้าไปตลอดทั้งวัน สามารถดูเกณฑ์คุณภาพอากาศ AQI จาก เวปไซต์กรมควบคุมมลพิษได้
สาเหตุที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ มากเป็นอันดับต้นๆคือ การเผาป่า เผาพืชไร่ การก่อสร้าง และควันจากท่อไอเสียรถยนต์นั้นเอง
ในช่วงที่คุณภาพอากาศมีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตราฐานนอกจากใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถกันฝุ่น PM 2.5 ได้ เมื่อต้องอยู่กลางแจ้ง ทางหน่วยงานราชการยังแนะนำให้อยู่แต่ภายในบ้านหรือตัวอาคาร ให้มากที่สุด โดยไม่เปิดประตูหรือหน้าต่างทิ้งไว้
แต่…การใช้ชีวิตอยู่แต่ในอาคาร ก็ยังไม่ใช่วิธีการแก้ไขซะทีเดียว
หลายปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ได้ถูกพัฒนาไปไกลมาก เรามี Smartphone ที่เป็นเหมือนคอมพิวเตอร์พกพาไปได้ทุกที่ มีรถที่สามารถขับเคลื่อนเอง และมีเทคโนโลยี AI ที่ชาญฉลาด
แต่การออกแบบการก่อสร้างตึกอาคาร และบ้านเรือน ที่มีระบบหมุนเวียนและระบบระบายอากาศ ที่คำนึงถึงสุขลักษณะของผู้ที่อยู่อาศัย กลับไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร
การใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านหรือตัวอาคารนั้นแล้วอาจจะป้องกันตัวเราจากฝุ่นได้ส่วนหนึ่ง เพราะลักษณะการก่อสร้างของอาคารส่วนใหญ่จะเป็นแบบปิดทึบ ลมผ่านเข้า-ออกได้ยาก แต่ลักษณะของสภาพอากาศแบบนี้ทำให้มีความชื้นภายในอาคารเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายตัวของ แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อโรคต่างๆที่อยู่ในอากาศ
บ่อยครั้งผู้อยู่อาศัยอาจรู้สึกไม่สบายตัวได้จากอากาศที่ไม่หมุนเวียน และไม่ถ่ายเท จนถึงขั้นป่วยเป็น Sick Building Syndrome ซึ่งเป็นอาการป่วยรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคารมากกว่านอกอาคาร
นอกเหนือจากเรื่องของสุขภาพ คุณภาพของอากาศภายในอาคารยังส่งผลต่อธุรกิจด้วย สำหรับในอาคารสำนักงานที่มีผู้เช่า มีออฟฟิส และมีพนักงานที่ทำงาน คุณภาพของระบบอากาศที่ดี ส่งเสริมให้ผู้ที่ทำงานภายในอาคารมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
องค์การอนามัยโลก ได้เผยถึงสถิติตัวเลขที่น่าสนใจ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งถึง 3,000 เคส โดยมีสาเหตุมาจากมลพิษของอากาศภายในอาคาร
90% ของผู้ป่วยไข้หวัดได้รับเชื้อผ่านทางอากาศภายในอาคาร และมีเพียง 10%เท่านั้นที่ติดเชื้อจากอากาศนอกอาคาร
ในปัจจุบัน คุณภาพของอากาศภายในอาคาร หรือ IAQ (Indoor Air Quality) เริ่มเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง และ มีการให้ความสำคัญกันมากขึ้น เช่น ในสถานที่สำคัญต่างๆ มีการควบคุมการสูบบุหรี่ภายในอาคาร และงดการใช้สารเคมี สารระเหย ที่มีผลกระทบต่อระบบหายใจ
อย่างไรก็ดีสำหรับบุคคลทั่วไป การศึกษาหาข้อมูล ทำความเข้าใจถึงสาเหตุและวิธีการป้องกัน ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นกัน
มลพิษทางอากาศภายในอาคารมากจากไหนบ้าง?
1. ฝุ่นและอนุภาคขนาดเล็ก ที่มีความเบาพอที่จะแฝงตัวอยู่ในอากาศ เช่น PM 2.5 ซึ่งไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า
2. สปอร์ของเชื้อรา
3. เกสรดอกไม้
4. ไรฝุ่น
5. ขนหรือฝุ่นจากสัตว์เลี้ยง
6. แบคทีเรียและไวรัส
7. คาร์บอนมอนนอกไซด์
8. กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์
9. สารเคมีต่างๆ เช่น แอลกอฮอล์ สารเคลือบเฟอร์นิเจอร์ น้ำหอมปรับอากาศ และน้ำยาทำความสะอาด
10. ควันจากบุหรี่และยานพาหนะ
วิธีการป้องกันที่เราสามารถทำได้
การสร้างความสะอาดของอากาศภายในอาคาร สามารถป้องกันเราจากมลภาวะที่เป็นพิษได้ โดย
1. ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ปราศจากสารที่เป็นพิษ เช่น VOCs (Volentile Organic Compounds), Benzene, Methylene chloride และ perchloroethylene ซึ่งถ้าจะให้ดีเราสามารถทำผลิตภัณฑ์ทดแทนขึ้นมาเองได้ง่ายจากวัถตุดิบใกล้ตัว เช่น Baking Soda, มะนาว และ Vinegar
2. ใช้ประโยชน์จากการปลูกต้นไม้ในร่มโดยเฉพาะไม้ใบ เช่น หมากเหลือง บอสตันเฟิร์น ปาล์มไผ่ หว่านหางจรเข้ เพราะต้นไม้จะช่วยฟอกอากาศ ฟอกสารพิษ ปรับความชื้นในอากาศให้พอเหมาะ และเพิ่มปริมาณออกซิเจนในอากาศ
3. เปิดช่องผ่านอากาศ ประตู หรือหน้าต่างให้มีอากาศ ถ่ายเทเข้าออก อยู่เสมอ หรืออาจจะติดตั้งพัดลมดูดอากาศเสริมด้วย
4. ลดปัจจัยที่อาจส่งเสริมการเพิ่มมลพิษ เช่น กำจัดสิ่งของที่ไม่จำเป็นที่อาจจะเป็นตัวเก็บฝุ่น ไม่ใส่รองเท้าเข้าบ้าน ไม่ให้สัตว์เข้าห้องนอนหากไม่ได้เลี้ยงในระบบปิด ทำความสะอาดบ้านด้วยผ้าชุบน้ำสะอาดเป็นประจำ ไม่สูบบุหรี่ภายในบ้านหรืออาคาร ใช้ Hood ดูดควันเมื่อทำการปรุงอาหาร
5. หลีกเลี่ยงสิ่งของที่มีการปนเปื้อนสารเคมี เช่น ไม่นำเฟอร์นิเจอร์ที่ทำเสร็จ เพิ่งทาสีเสร็จเข้าบ้านทันที ให้พักไว้นอกบ้านเพื่อลดปริมาณความเข้มข้นของสารเคมีเคลือบผิวเสียก่อน
6. เพิ่มระบบระบายอากาศ ระบบเครื่องปรับอากาศ และระบบกรองอากาศ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เป็นที่ทราบกันอย่างแพร่หลายว่า หากอยากมีสุขภาพที่ดีแข็งแรง เราควรจะรับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ซึ่งทั้งสามเรื่องที่กล่าวมานี้เป็นความจริงที่ถูกต้องอย่างแน่นอน
แต่เนื่องจากปัจจุบันสภาวะแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงอย่างมาก การที่จะทำแค่สามเรื่องดังกล่าวอาจจะไม่เพียงพอต่อการมีสุขภาพดีอีกต่อไป การเริ่มหันมาใส่ใจคุณภาพอากาศทั้งจากสิ่งแวดล้อมภายนอกและในที่พัก ตัวอาคารจะทำให้เราและคนที่เรารักมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน