คำแนะนำให้ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน วันละ 30 นาทีเป็นคำแนะนำเพื่อการมีสุขภาพดีที่ทำให้เหล่าคนขี้เกียจขยับกายท้อแล้วละก็
ขอให้เชิญฟังทางนี้
ข่าวดีมีอยู่ว่า งานวิจัยล่าสุดที่ได้ติดตามผลการศึกษานานถึง 15 ปี ยืนยันออกมาแล้วว่า การออกกำลังกายด้วยการวิ่งเฉลี่ยเพียงวันละ 5-10 นาทีเท่านั้น
ก็จะช่วยให้คนเรามีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นได้อีก 3 ปีเลยทีเดียว
เช่นนี้แล้วเชื่อแน่ว่าหลายคนคงรู้สึกมีกำลังใจฮึดลุกขึ้นมาออกกำลังกายกันมากกว่าแต่ก่อนอย่างแน่นอน แต่เชื่อเถอะว่าดีขนาดนี้แล้วยังต้องมีคนบ่นจนได้ว่า
โอ้โห!! ใครจะสามารถวิ่งออกกำลังกายได้ทุกวัน ไหนฝนจะตก ไหนจะโน่น นั่น นี่
ถ้าเป็นกรณีนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไอโอวา สเตทในสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า ไม่จำเป็นต้องทำทุกวันหากทำไม่ได้ แต่ในหนึ่งสัปดาห์ สามารถเก็บนาทีที่วิ่งเพื่อหารเฉลี่ยต่อวันแล้วให้ได้ในช่วง 5-10 นาทีเป็นอย่างน้อย ถือว่าก็ยังเป็นการดี
ทีมนักวิจัยพบว่าหากเปรียบเทียบกับคนที่ไม่วิ่งออกกำลังกายเลย กับคนที่ในหนึ่งสัปดาห์วิ่งออกกำลังกายได้อย่างน้อยๆ ประมาณ 30 นาทีถึง 59 นาที คนที่วิ่งมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยสาเหตุโดยรวมกว่าถึง 28%
และถ้าเป็นความเสี่ยงโรคหัวใจ ก็พบว่าคนที่วิ่งมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตน้อยกว่าคนที่ไม่วิ่งเลยถึง 58%
ผลการวิจัยนี้เพิ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของสมาคมโรคหัวใจอเมริกัน ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม และนับเป็นองค์ความรู้ใหม่ในวงการแพทย์และสาธารณสุข เพราะแม้แต่ในสหรัฐฯเอง แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพมักจะยึดคำแนะนำมาตราฐานที่ว่าคนเราควรออกกำลังกายด้วยการวิ่งอย่างน้อยให้ได้สัปดาห์ละ 75 นาที หรือวิ่งให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือในหนึ่งสัปดาห์ต้องวิ่งให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
สำหรับการวิจัยของมหาวิทยาลัยไอโอวา สเตท นี้เป้นการติดตามกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 55,000 คนที่มีอายุระหว่าง 18-100 ปีติดตามกันมานานถึง 15 ปีก่อนมีผลสรุปออกมา
ทั้งนี้ 1 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเป็นคนที่ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง และแม้นักวิจัยจะออกตัวว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าการวิ่งออกกำลังกายมีผลทำให้อายุยืนขึ้นโยตรงแต่พวกเขา สามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนว่า
การวิ่งออกกำลังกายมีความสัมพันธ์ อย่างหนักแน่นกับการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
ในทางกลับกันนักวิจัยพบว่า อายุขัยเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ออกกำลังกายด้วยการวิ่งเลยจะน้อยกว่ากลุ่มตัวอย่างที่วิ่งถึง 3 ปี!!!
“ประโยชน์ที่ได้ในทางลดอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตที่ว่านี้ พบได้ในทุกช่วงและทุกลักษณะการวิ่ง ไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลาในการวิ่ง ระยะทางที่วิ่ง ความถี่ในการวิ่ง และความเร็วในการวิ่ง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดักชูล ลี ผู้เชียวชาญด้านวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว แห่งมหาวิทยาลัย ไอโอว่า สเตท กล่าว
อย่างไรก็ตามหัวหน้าทีมวิจัยย้ำว่าหัวใจสำคัญของการวิ่งเพื่อให้มีสุขภาพที่ดีต้องหมั่นทำเป็นประจำ เพราะการวิจัยนี้พบอีกด้วยว่ากลุ่มตัวอย่างที่พบว่าได้ประโยชน์จากการวิ่งสูงสุดคือกลุ่มที่วิ่งมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 ปี
ด้าร ดร.ไมเคิล สก๊อต อีเมอรี่ ประธานร่วมของสภาด้านโรคหัวใจและการออกกำลังกายและกีฬา ของราชวิทยาลัยโรคหัวใจอเมริกัน กล่าวว่าเขารู้สึกประหลาดใจอยู่เหมือนกันที่ได้ทราบว่าการวิ่งเพียง 5 หือ 10 นาทีต่อวันนั้นจะสามารถเกิดผลดีต่อสุขภาพได้มากถึงขนาดนี้
“ผลการวิจัยนี้นับเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญเป็นอย่างมากในการทำให้คนลุกขึ้นมาออกกำลังกายกัน เพราะการออกกำลังกายแต่น้อยก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าดีกว่า ที่ไม่ทำซะเลย” ดร.อีเมอรี่กล่าว
กระนั้นก็ตาม ดร.อีเมอรี่ กล่าวว่าแม้ว่าการวิ่งจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่การวิ่งมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยงในการบาดเจ็บมากกว่าการเดิน โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยได้ออกกกำลังกาย
“การวิ่งมีความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บได้มากกว่า แต่การเดินต้องใช้เวลามากกว่า” ดร.อีเมอรี่กล่าว “คุณจำเป็นต้องหาส่วนผสมที่ลงตัวสำหรับตัวคุณเอง หาจุดสมดุลของตัวเอง”
“การวิ่งนั้นนับเป็นการออกกำลังกายที่ต้องใช้พลังงานในระดับสูงมากพอสมควร ฉะนั้นแล้วขอแนะนำว่า คนที่ปกติมักไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายอะไรมากนัก ควรได้เริ่มจากการออกกำลังกายด้วยารเดินดูเสียก่อนเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บทางกายในช่วงเริ่มหัดออกกำลังกาย”
ดร.อีเมอรี่ฝากคำแนะนำถึงผู้ที่กำลังตัดสินใจเริ่มออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ
บทความจาก : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 155 กันยายน 2557 โดย สสส.