โรคภูมิแพ้เป็นโรคที่พบบ่อยในคนไทยโรคนี้เกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายแล้วกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง ภูมิคุ้มกันและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นมากผิดปกติ
ภายหลังเมื่อได้รับสารนั้นเข้าไปอีก ภูมิคุ้มกันดังกล่าวก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการซึ่งจะเกิดอาการเฉพาะในคนที่แพ้เท่านั้น ในคนปกติจะไม่เกิดอาการ สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
โรคภูมิแพ้เป็นกลุ่มของโรคที่แสดงอาการได้กับหลายระบบของร่างกาย อาการของโรคภูมิแพ้ขึ้นอยู่กับชนิดของโรคภูมิแพ้ที่เป็น
ซึ่ง พยาธิสภาพนั้น เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานมากเกินไป ทำให้เยื่อบุที่อวัยวะต่างๆมีความไวต่อสิ่งกระตุ้นมากเกินไปทำให้เกิดการตอบสนองที่มากผิดปกติของอวัยวะนั้นๆ เช่น
-ถ้าเป็นที่ตา เรียกว่า เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis) หรือโรคแพ้อากาศ ผู้ป่วยจะมีอาการ จาม คันจมูก น้ำมูกไหลออกมาทางจมูก หรือไหลลงคอ คัดจมูก คันเพดานปากหรือคอ
–ถ้าเป็นที่หลอดลม เรียกว่า โรคหลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคหอบหืด (asthma) ผู้ป่วยจะมีอาการ ไอ หอบเหนื่อย หายใจขัด แน่นหน้าอกหายใจมีเสียงวี๊ด หายใจลำบากหรือหายใจเร็ว โดยเฉพาะเวลาตอนกลางคืน ตอนเช้ามืด หรือขณะออกกำลังกาย หรือขณะเป็นหวัด
-ถ้าเป็นที่ระบบทางเดินอาหาร เรียกว่า โรคแพ้อาหาร (food allergy) ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียน คลื่นไส้ ท้องเสีย ปากบวม ปวดท้อง ท้องอืด อาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจ (เช่น หอบหืด, แพ้อากาศ) และผิวหนัง (เช่น ผื่นคัน, ลมพิษ) ร่วมด้วย
อาหารที่เป็นสาเหตุได้บ่อย ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเล ผักและผลไม้บางชนิด ผงชูรส สารกันบูด สารแต่งกลิ่นและสี
อาการของโรคภูมิแพ้ จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้อยกว่าคนปกติทั่วไป เช่น ทำให้ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ ขาดสมาธิ ทำให้เรียนและทำงานได้ไม่เต็มที่
ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันหรือเล่นกีฬาได้ตามปกติเสียบุคลิกภาพที่ดีในการเข้าสังคม นอกจากนั้น การที่ไม่ได้รักษาโรคนี้อย่างถูกต้องอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาเช่น ไซนัสอักเสบ ผนังคอและต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง ริดสีดวงจมูก หูชั้นกลางอักเสบโดยเฉพาะในเด็ก
ภาวะมีน้ำขังในหูชั้นกลาง การเจริญเติบโตของรูปหน้าผิดปกติในเด็กเล็ก จมูกไม่ได้กลิ่น นอนกรน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคผิวหนังติดเชื้อ หรือถ้าเป็นมากอาจมีอาการบวมที่ริมฝีปาก ลิ้น ลำคอ กล่องเสียงและหลอดลม
ทำให้หายใจไม่ได้และอาจทำให้เกิดอาการช็อค (anaphylactic shock) ได้ การให้การรักษาโรคนี้อย่างถูกต้องนอกจากจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังสามารถป้องกันโรคแทรกซ้อนดังกล่าวได้ด้วย
การรักษาโรคภูมิแพ้มีขั้นตอนในการรักษา 4 ขั้นตอนคือ
1. การดูแลตนเองอย่างเหมาะสม และหลีกเลี่ยงหรือกำจัดสิ่งที่แพ้ เป็นการรักษาที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการรักษาและป้องกันที่สาเหตุ โดยพยายามดูแลสุขภาพร่างกายให้สมบูรณ์และแข็งแรงอยู่เสมอ
เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกประเภท รวมทั้งผักและผลไม้ ออกกำลังกายเป็นประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและรักษาสุขภาพจิตให้สดชื่นแจ่มใส เพราะถ้ามีอาการเครียด เศร้าโกรธหรือกังวล อาจทำให้อาการของโรคมากขึ้นได้
พยายามอยู่ห่างจากผู้ที่ไม่สบายทั้งที่บ้านและที่ทำงาน เนื่องจากอาจรับเชื้อโรค ทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้
และเมื่อมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่น หวัด ไซนัสอักเสบ ฟันผุ คอหรือต่อมทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อที่ตา ผิวหนังหรือระบบทางเดินอาหารควรรีบไปหาแพทย์ เพื่อให้การรักษาเสียแต่เนิ่นๆ
เพราะจะทำให้อาการของโรคภูมิแพ้กำเริบหรือแย่ลงไปได้ ควรดูแลสุขภาพของฟันและช่องปากให้ดีโดยไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง พยายามหลีกเลี่ยง อย่าให้สัมผัสกับสิ่งที่แพ้ซึ่งอาจทราบได้จากการทดสอบภูมิแพ้ ดังรูปข้างล่างนี้
หรืออาจใช้วิธีสังเกตว่า สัมผัสกับอะไรอยู่ในสิ่งแวดล้อมใดหรือรับประทานอาหารแล้วมีอาการ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านั้น
นอกจากนั้นควรกำจัดหรือลดปริมาณของสารก่อภูมิแพ้ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้เหลือน้อยที่สุด แม้ว่าสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกบ้าน เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งแวดล้อมที่อยู่ภายในบ้านโดยเฉพาะห้องนอนเราสามารถควบคุมได้
นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยง สารระคายเคืองต่างๆ หรือปัจจัยชักนำบางอย่าง ที่จะทำให้อาการของโรคมากขึ้น เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ควันจากท่อไอเสียรถยนต์มลพิษจากโรงงานควันธูป กลิ่นฉุนหรือแรง เช่นกลิ่นสี หรือน้ำหอม
กลิ่นจากน้ำยาหรือสารเคมีต่างๆ อากาศที่เย็นหรือร้อนเกินไป การเปิดแอร์หรือพัดลมเป่าโดยตรง การอาบน้ำ เย็นหรือการดื่มน้ำเย็น การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของอากาศอย่างรวดเร็ว
ถ้าต้องการเปิดแอร์นอน ควรตั้งอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศให้สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ถ้าใช้พัดลม ไม่ควรเปิดเบอร์แรงสุด ควรนอนอยู่ห่างจากเครื่องปรับอากาศหรือพัดลมพอสมควร ไม่ควรเปิดแอร์หรือพัดลมจ่อ
ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเพียงพอเช่นควรนอนห่มผ้า ใช้ผ้าพันคอหรือใส่ถุงเท้าเวลานอนด้วย ในกรณีที่ไม่ชอบต้องห่มหรือห่มแล้วชอบสะบัดหลุดโดยไม่รู้ตัวควรใส่เสื้อหนาหนาหรือใส่เสื้อสองชั้นเข้านอน
นอกจากนั้นควรหลีกเลี่ยงการอดนอน การดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ อาหารปลาชนิดที่แพ้โดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเป็นโรคแพ้อาหารเช่น อาหารทะเล ถั่วไข่ นม เนื้อสัตว์ หลีกเลี่ยงยาบางชนิดโดยเฉพาะถ้าผู้ป่วยเป็นโรคหอบหืดเช่น แอสไพริน ยาปวด กระดูก ยาคลายกล้ามเนื้อ
ผู้ป่วยควรสังเกตว่าสารใดหรือภาวะแวดล้อมอะไรหรือการปฏิบัติอย่างไรทำให้อาการของโรคมากขึ้นควรพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นจะเห็นได้ว่า การรักษาโรคภูมิแพ้ที่แท้จริงแล้ว เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยให้ระมัดระวังหลีกเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดอาการนั้นเอง
2. การใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการ เช่นยารับประทาน ยาพ่นจมูกยาทาผิวหนัง ยาสูดหรือพ่นคอ ยาหยอดตาซึ่งมีความจำเป็น ในระยะแรก เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองต่างๆได้ 100%
อย่างไรก็ตามอย่าเป็นเพียงการรักษาปลายเหตุเมื่อสามารถดูแลตนเองและควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้นความจำเป็นในการใช้ยาก็จะน้อยลงเรื่อยๆ
3. การฉีดวัคซีนภูมิแพ้ (allergen immunotherapy) เป็นการรักษาโดยฉีดสารก่อภูมิแพ้ ที่คิดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเข้าไปในร่างกายทีละน้อยแล้วค่อยๆเพิ่มจำนวน
เพื่อให้สร้างภูมิต้านทานต่อสิ่งที่แพ้ วิธีนี้จะใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา หรือไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาได้ หรือผู้ที่มีภูมิแพ้หลายชนิดร่วมด้วย วิธีนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีครึ่ง ถ้าได้ผลดีอาจต้องฉีดต่อเนื่องไปอีก 3-5 ปี
4. การรักษาโดยการผ่าตัด ใช้ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการ คัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ซึ่งให้การรักษาโดยการใช้ยาอย่างเต็มที่แล้วไม่ดีขึ้น หรือมีโรคบางอย่างร่วมด้วย เช่นผนังกั้นช่องจมูกคด เยื่อบุจมูกบวมมากผิดปกติ ริดสีดวงจมูก ไซนัสอักเสบ ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษาด้วยยา ซึ่งมักอาศัยการส่องกล้องตรวจภายในโพรงจมูก
โดยสรุป โรคภูมิแพ้นั้นสามารถรักษาให้อาการต่างๆดีขึ้นได้ สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนบุคคลปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้โดยปราศจากโรคแทรกซ้อน ทั้งนี้การรักษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับการใช้ยาอย่างเดียว จําเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องของผู้ป่วยด้วย
ขอบคุณบทความจาก ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล