อาการปวดส้นเท้า โรครองช้ำ คืออะไร

โรครองช้ำ เป็นอีกโรคหนึ่งที่กำลังได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมาก เนื่องจากเริ่มมีผู้ป่วยด้วยโรคนี้มากขึ้นและส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อยเลยทีเดียว

เพราะฉะนั้นเรามาทำความรู้จักกับโรคนี้ให้มากขึ้นกันหน่อยดีกว่า เพื่อจะได้ป้องกันและเตรียมพร้อมรับมือกับอาการป่วยได้ดีนั่นเอง

โรครองช้ำคืออะไร

โรครองช้ำหรืออาการปวดส้นเท้า เป็นโรคที่รู้จักกันดีในหมู่นักวิ่ง เพราะเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงต่ออาการป่วยด้วยโรครองช้ำมากที่สุด

โดยโรครองช้ำก็คือโรคที่เกิดจากการอักเสบบริเวณพังผืดใต้ฝ่าเท้า ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณที่พังผืดยึดติดกับกระดูกส้นเท้าพอดี

ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่ส้นเท้าและจะรุนแรงขึ้นเมื่อก้าวเดิน เนื่องจากได้ลงน้ำหนักไปที่เท้ามากกว่าเวลาปกตินั่นเอง

สาเหตุของโรครองช้ำ อาการปวดส้นเท้า

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดส้นเท้าที่เรียกกันว่า โรครองช้ำ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน และมักจะพบได้มากในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นประจำ โดยสาเหตุก็มีดังนี้

1.เท้ารับน้ำหนักเป็นเวลานาน

การที่เท้าต้องรับน้ำหนักเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เอ็นฝ่าเท้าเกิดการอักเสบและมีอาการเจ็บปวดได้ โดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวเยอะจะมีโอกาสเป็นโรครองช้ำได้มากที่สุด

รวมถึงคนที่มีพฤติกรรมการยืนเป็นเวลานานๆ เช่น คนที่ทำงานแบบยืน โดยต้องยืนต่อเนื่องเป็นเวลา 8 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดอาการปวดส้นเท้าแล้วก็ยังเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอื่นๆ อีกด้วย

2.การสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม

การเลือกใส่รองเท้าก็มีผลต่ออาการป่วยด้วยโรคชองช้ำเช่นกัน โดยรองเท้าส่วนใหญ่จะถูกออกแบบมาให้รับกับรูปเท้าของคนเราได้ดีและสามารถรองรับการกระแทกเมื่อก้าวเดินหรือวิ่ง

ทำให้ส้นเท้าไม่ได้รับการกระทบกระเทือนมากนัก แต่หากรองเท้าที่เลือกใส่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะรองเท้าที่ไม่มีพื้นบุรองส้นเท้า ก็จะทำให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบได้ง่ายและกลายเป็นโรครองช้ำในที่สุด

3.การวิ่งกระแทกส้นเท้า

ในระหว่างวิ่งหากมีการกระแทกส้นเท้าแบบหนักหน่วงและรุนแรงจนเกินไปก็จะทำให้ส้นเท้าเกิดการอักเสบ มีอาการปวดและเป็นโรครองช้ำได้

จึงทำให้บรรดานักวิ่งและผู้ที่มักจะออกกำลังกายด้วยการวิ่งเป็นประจำ มักจะมีโอกาสป่วยด้วยโรครองช้ำมากที่สุด โดยเฉพาะในคนที่วิ่งแบบก้าวยาวๆ เพราะจะทำให้จังหวะในการลงเท้ามีการกระแทกอย่างรุนแรงมากกว่าการก้าวแบบปกติ

4.ใช้งานเท้าหนักเกินไป

ร่างกายของคนเราล้วนมีขีดจำกัดในการใช้งานเสมอ เท้าก็เช่นกัน หากมีการใช้งานหนักจนเกินที่จะรับไหว ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาได้และอาจส่งผลต่อสุขภาพเท้าในด้านอื่นๆ อีกด้วย

โดยเฉพาะคนที่ต้องฝึกวิ่งอย่างหักโหมจนเกินไปหรือต้องวิ่งในระยะทางที่ไกลมาก

5.เป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นโรคที่อาจส่งผลให้เกิดอาการอักเสบที่เส้นเอ็นจุดใดจุดหนึ่งได้ง่าย และการอักเสบที่เส้นเอ็นนี่เอง ที่จะทำให้พังผืดบริเวณใต้ฝ่าเท้าเกิดการอักเสบและเจ็บขึ้นมา ดังนั้นผู้ป่วยด้วยโรคนี้จึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้มีอาการป่วยด้วยโรครองช้ำตามมา

อาการของโรครองช้ำ

อาการของโรครองช้ำ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีอาการเจ็บที่ส้นเท้าและลามไปทั่วฝ่าเท้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อก้าวเดินหรือยืนเป็นเวลานาน

โดยอาการเจ็บจะเจ็บแบบปวดจี๊ดขึ้นมาและปวดแสบซึ่งจะมีอาการแบบเป็นๆ หายๆ ทำให้หลายคนมักชะล่าใจและมองข้ามไปโดยคิดว่าแค่เจ็บเท้าธรรมดาเท่านั้น

นอกจากนี้หากมีการลงน้ำหนักที่ส้นเท้าในก้าวแรกก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงที่สุด เช่นเมื่อลุกขึ้นหลังตื่นนอน หรือลุกขึ้นหลังจากนั่งพักมาเป็นเวลานาน โดยเผลอลงหนักที่ส้นเท้านั่นเอง

ซึ่งในระหว่างวันอาการปวดก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ประมาณว่ายิ่งเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายด้วยเท้ามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีอาการเจ็บมากเท่านั้น

การรักษาอาการปวดส้นเท้า โรครองช้ำ

การรักษาอาการปวดส้นเท้า โรครองช้ำ สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการใช้ยารักษา ทำกายภาพบำบัดและการปรับพฤติกรรมที่เป็น

สาเหตุของโรครองช้ำ โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

1.รับประทานยาต้านการอักเสบ

ผู้ป่วยด้วยโรคนี้ แพทย์จะทำการรักษาด้วยการให้ยาต้านการอักเสบเพื่อลดการอักเสบและอาการเจ็บปวดลง แต่จะต้องไม่ใช่ยาสเตียรอยด์

โดยการทานยาอาจต้องทานอย่างต่อเนื่องจนกว่าอาการจะหายดีหรือตามแพทย์สั่ง และต้องทำตามคำแนะนำในการทานยาอย่างเคร่งครัดด้วย

2.ฉีดสเตียรอยด์

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษาอาการโรครองช้ำได้ แต่ส่วนใหญ่จะต้องฉีดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 18 เดือนถึงจะหายขาด แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก

โดยพบว่าผู้ป่วยบางคนเมื่อรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์จนหายขาดแล้ว ก็มีโอกาสกลับมาป่วยด้วยโรคนี้ได้อีกเช่นกัน ทำให้การฉีดสเตียรอยด์ เป็นวิธีที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก

3.เลี่ยงการเดินเท้าเปล่า

ไม่ควรเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็ง เพราะจะยิ่งทำให้อาการเจ็บปวดรุนแรงขึ้น ดังนั้นจึงต้องใส่รองเท้าเดินทุกครั้ง แม้ว่าจะเป็นในบ้านก็ตาม

ซึ่งอาจซื้อรองเท้าสลิปเปอร์สำหรับใส่ในบ้านมาไว้ใช้ก็ได้ เลือกแบบที่มีพื้นนุ่มนิ่มสักนิด ก็จะช่วยให้อาการป่วยหายเร็วยิ่งขึ้น เพราะไม่มีอะไรไปกระทบกระเทือนให้เกิดอาการอักเสบขึ้นมาอีกนั่นเอง

4.ลดน้ำหนัก

เพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินเกณฑ์ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของโรครองช้ำ และยิ่งเท้าต้องรับน้ำหนักมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้เกิดอาการปวดและไม่หายขาดจากโรคสักที

ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ควรลดน้ำหนักให้น้อยลง แต่ต้องเลือกวิธีการลดน้ำหนักที่ไม่กระทบกระเทือนกับฝ่าเท้า เช่น การควบคุมปริมาณอาหาร เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงไขมันและน้ำตาล

ส่วนการออกกำลังกายก็อาจเลือกเป็นการว่ายน้ำ การปั่นจักรยานอากาศหรือการลุกนั่งแทน เท่านี้ก็สามารถลดน้ำหนักและช่วยให้อาการป่วยหายเร็วขึ้นอย่างง่ายดาย

5.ทำกายภาพบำบัด

ในผู้ที่มีอาการเจ็บปวดรุนแรงจนแทบเดินไม่ได้ หลังจากที่รักษาจนอาการเริ่มหายดีแล้ว จะต้องทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย เพื่อให้สามารถเดินได้ปกติโดยไม่มีอาการปวดแปลบบริเวณฝ่าเท้าอีก

ซึ่งส่วนใหญ่จะทำกายภาพด้วยการฝึกยืดเอ็นร้อยหวาย โดยจากการศึกษาก็พบว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากทีเดียว

6.ใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับกระดูก

ในบางคนอาจต้องใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับกระดูกเข้ามาเสริม เพื่อบรรเทาอาการปวดและช่วยให้เดินได้อย่างสะดวกมากขึ้น โดยอุปกรณ์เสริมที่นิยมนำมาใช้ เช่น อุปกรณ์เสริมอุ้งเท้าด้านใน และอุปกรณ์รองรับส้นเท้า เป็นต้น

7.เลือกรองเท้าที่เหมาะสม

ผู้ป่วยโรครองช้ำ จะต้องระมัดระวังไม่ให้เท้าได้รับการกระทบกระแทกซ้ำอีก เพราะจะยิ่งทำให้อักเสบและเจ็บปวดมากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพกว่าเดิม

ก็คือการเลือกรองเท้าให้เหมาะสมนั่นเอง โดยรองเท้าจะต้องมีเจลรับแรงกระแทกตรงส้นเท้าเป็นพิเศษ หรือจะใช้วิธีการเจาะรูพื้นรองเท้าให้เป็นวงกลม ที่ป้องกันไม่ให้เกิดแรงกดทับมากกว่าเดิมก็ได้ ที่สำคัญรองเท้าควรมีความนุ่ม สวมใส่สบายด้วย

8.ประคบด้วยน้ำร้อน

การประคบด้วยน้ำร้อนจะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด และลดการอักเสบของเอ็นได้ดี โดยหลังจากประคบด้วยความร้อนแล้ว อาจจะใช้ยานวดมานวดวนบริเวณฝ่าเท้าและบริเวณที่เจ็บสักพัก หรือจะใช้ผ้าพันที่ฝ่าเท้าและส้นเท้าเอาไว้ ก็จะช่วยลดอาการเจ็บปวดได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน

9.ผ่าตัดเพื่อเลาะพังผืด

สำหรับวิธีการผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดให้ในคนที่มีอาการรุนแรงและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ให้หายได้ โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเลาะพังผืดออกมา

จากนั้นก็จะให้ยาเพื่อลดการอักเสบ ป้องกันการติดเชื้อและบรรเทาอาการปวดร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม วิธีนี้แพทย์จะไม่ค่อยนิยมมากนัก เพราะพบว่าอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ง่าย และการผ่าตัดก็ต้องใช้ความระมัดระวังมากพอสมควรและมีค่าใช้จ่ายสูงเช่นกัน

เหยียบกะลา รักษาโรครองช้ำได้จริงหรือ?

สำหรับวิธีการรักษาโรครองช้ำด้วยการเหยียบกะลา กำลังเป็นที่พูดถึงและสร้างความสงสัยให้กับหลายคนเป็นอย่างมาก ว่าวิธีนี้สามารถรักษาโรครองช้ำได้จริงหรือและมีวิธีการรักษาอย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะไปไขข้อข้องใจกัน

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่าการรักษาโรครองช้ำด้วยการเหยียบกะลา เป็นวิธีแบบโบราณที่มีการนำมาใช้เพื่อคลายอาการปวดเมื่อยบริเวณฝ่าเท้าและเป็นเหมือนการกดจุดที่จะช่วยสร้างความผ่อนคลายและลดความเครียดได้เป็นอย่างดี

ซึ่งโดยทางการแพทย์แผนโบราณก็พบว่าวิธีนี้สามารถนำมารักษาโรครองช้ำได้ดีและหายขาดโดยไม่ต้องกลัวว่าจะกลับมาเป็นซ้ำอีกด้วย โดยมีวิธีการรักษาดังนี้

[alert-announce]

ขั้นตอนที่ 1 : นำมะพร้าวแห้งมาผ่าซีกทำเป็นกะลา 2 ข้าง โดยด้านที่นูนขึ้นมาให้ขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบเพื่อให้ง่ายต่อการยืนและไม่ทำให้ระคายเคืองฝ่าเท้า ส่วนด้านที่เป็นส่วนเว้า ให้ตัดให้เรียบเสมอกัน ซึ่งเมื่อวางลงบนพื้นจะต้องไม่กระดก

 

ขั้นตอนที่ 2 : นำผ้านุ่มๆ มาปูบนพื้นจากนั้นนำกะลาวางทับลงไป โดยพื้นจะต้องมีความเรียบสม่ำเสมอด้วย

 

ขั้นตอนที่ 3 : ขึ้นไปยืนเหยียบบนกะลา โดยให้ฝ่าเท้าวางอยู่บนส่วนนูนของกะลาพอดี จากนั้นจึงเปลี่ยนเอาส้นเท้าและฝ่าเท้ามาสลับเหยียบกันไปเรื่อยๆ ทำเป็นประจำทุกวัน ครั้งละ 10-20 หลังจากตื่นนอนตอนเช้า ซึ่งแรกๆ อาจจะมีอาการเจ็บหน่อยแต่ก็ต้องทน แล้วอาการปวดจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติอย่างแน่นอน[/alert-announce]

หากไม่ทำการรักษาจะมีอาการอย่างไรบ้าง?

โรครองช้ำ เป็นโรคที่มีความร้ายแรงในระดับหนึ่ง ซึ่งหากไม่ทำการรักษาอย่างเร่งด่วนและปล่อยไว้เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการลุกลามและเป็นอันตรายมากทีเดียว

กล่าวคือ จะทำให้ข้อต่อและกล้ามเนื้ออื่นๆ ในขาข้างที่เป็นโรครองช้ำเกิดการอักเสบขึ้นมาด้วย รวมถึงกล้ามเนื้อและข้อต่อบริเวณสะโพกบั้นเอว ซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ในบางคนอาจถึงขั้นเดินไม่ได้เลยทีเดียว

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นโรครองช้ำ

โรครองช้ำ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งคนที่เสี่ยงต่อโรคชนิดนี้มากที่สุดก็มีดังนี้
ผู้หญิง

โดยจากการสำรวจพบว่า ผู้หญิงจะมีโอกาสป่วยด้วยโรครองช้ำมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากเอ็นและกล้ามเนื้อเท้าของผู้หญิงจะมีความอ่อนแอกว่าของผู้ชาย

และไขมันส้นเท้าก็บางกว่าอีกด้วย ทำให้การถูกกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้ส้นเท้าเกิดการอักเสบและมีอาการเจ็บปวดได้นั่นเอง

ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เพราะจะทำให้เท้าต้องรับน้ำหนักมากเกินไป จึงมีโอกาสที่จะเกิดอาการอักเสบได้มากกว่าคนปกติ และอาจเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมาอีกมากมายอีกด้วย

ทำงานที่ต้องยืนหรือเดินเป็นเวลานาน โดยเฉพาะบนพื้นแข็งหรือพื้นผิวที่มีความขรุขระ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มพนักงานโรงงานในฝ่ายผลิต

คนที่ฝ่าเท้ามีความผิดปกติอยู่แล้ว เช่น เท้าแบนหรือโก่งโค้งจนเกินไป จึงทำให้มีโอกาสที่จะเป็นโรครองช้ำได้มากกว่าคนปกติ ดังนั้นจึงต้องเลือกรองเท้าที่สามารถรับกับรูปเท้าของตัวเองได้ดีและต้องระมัดระวังไม่ให้เท้าเกิดการกระแทกที่รุนแรงและหนักหน่วงจนเกินไปบ่อยๆ

ผู้ที่เป็นนักกีฬา โดยเฉพาะนักวิ่ง เพราะการวิ่งที่หนักหน่วงเป็นประจำ อาจทำให้เท้าอักเสบและมีอาการเจ็บปวดได้มากที่สุด แต่อย่างไรก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการวิ่งของแต่ละคนด้วย โดยพบว่าผู้ที่วิ่งแบบก้าวยาวๆ จะมีความเสี่ยงมากกว่าการวิ่งแบบอื่นๆ มากทีเดียว

ผู้ที่มีอายุมาก โดยพบว่ายิ่งอายุมากขึ้น ก็จะยิ่งเสี่ยงเป็นโรคชองช้ำมากขึ้น เพราะไขมันบริเวณส้นเท้าจะค่อยๆ บางลง จนไม่สามารถปกป้องฝ่าเท้าและส้นเท้าจากแรงกระแทกได้อย่างเต็มที่นั่นเอง ยิ่งหากมีพฤติกรรมอื่นๆ ที่ทำให้เสี่ยงด้วยแล้ว ก็จะยิ่งมีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้สูงมาก

ท่ายืดกล้ามเนื้อ เพื่อรักษาโรครองช้ำ

สำหรับท่ายืดกล้ามเนื้อเพื่อรักษาและบรรเทาอาการของโรครองช้ำให้ดีขึ้น ก็มีหลายท่าให้เลือกทำดังนี้

1.ท่านี้ ผู้ป่วยจะต้องยืนหันหน้าเข้าหากำแพง โดยใช้มือยันกำแพงไว้ ตามด้วยวางเท้าที่ต้องการยืดเอ็นร้อยหวายไว้ข้างหลัง พยายามย่อเข่าลงมาด้านหน้าให้ได้มากที่สุดขณะที่ขาด้านหลังยังคงเหยียดตึง นับ 1-10 แล้วกลับสู่ท่าเริ่มต้น

2.ท่านี้ผู้ป่วยจะต้องนั่งหลังตรงพร้อมเหยียดขาข้างที่ต้องการยืดเอ็นร้อยหวายออกไปข้างหน้า จากนั้นใช้ผ้าคล้องปลายเท้าเอาไว้แล้วดึงเข้ามาหาตัว ทำค้างไว้นับ 1-10 แล้วกลับสู่ท่าเริ่มต้น

หรือทำตามได้ตามคลิปวีดีโอนี้

โรครองช้ำ เป็นโรคที่เกิดได้ง่ายกับทุกคนและส่งผลเสียไม่น้อย ดังนั้นจึงควรดูแลตัวเองให้ดี เพื่อให้ห่างไกลจากอาการปวดส้นเท้าจากโรครองช้ำนั่นเอง

ใหม่กว่า เก่ากว่า