ภาวะต่อมลูกหมากโต โรคสำหรับผู้ชายวัยทอง

ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia) เป็นภาวะปกติที่พบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคน หรือมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

และจะพบมากหากในผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 80 ปี โดยภาวะต่อมลูกหมากโตนี้ ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดความรำคาญ หรือหงุดหงิดใจเท่านั้น เพราะอาจเกิดความรุนแรง จนถึงมีอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้

[alert-note]แม้สาเหตุการเกิดโรคต่อมลูกหมากโตจะยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ แต่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับอายุ และเกิดความไม่สมดุลกันของระดับฮอร์โมนเพศเมื่อเริ่มมีอายุที่เพิ่มมากขึ้น เพราะฮอร์โมนเพศชายมักจะมีระดับลดลงในชายสูงอายุ จนเป็นเหตุทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดโตขึ้นจนไปอุดกั้นท่อทางเดินปัสสาวะและคอกระเพาะปัสสาวะ[/alert-note]

จึงทำให้มีการถ่ายปัสสาวะที่ผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่ง ลำปัสสาวะไม่พุ่ง หรืออ่อนแรง เวลาปัสสาวะแต่ละครั้งต้องรอนานกว่าจะออก และเมื่อออกไปแล้วต้องใช้เวลานานกว่าจะปัสสาวะหมด รวมทั้งอาจมีปัสสาวะไม่สุดเหมือนยังมีปัสสาวะค้างอยู่

และถ้ามีอาการมากขึ้นก็จะทำให้ปัสสาวะไม่ออก รวมทั้งอาจมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น เช่นมีปัสสาวะเป็นเลือด เพราะเส้นเลือดของต่อมลูกหมากแตก เมื่อต้องเบ่งปัสสาวะ เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากมีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ อาจมีนิ่วเกิดขึ้นในกระเพาะปัสสาวะได้ รวมทั้งเกิดภาวะเสื่อมของไต ซึ่งถือเป็นภาวะที่อันตรายมากที่สุด

สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคต่อมลูกหมากโตนี้ ปัจจุบันสามารถทำการรักษาได้หลายวิธี เช่น การรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันเพื่อลดขนาดของต่อมลูกหมากหรือเพื่อลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบในเนื้อต่อมลูกหมาก

การผ่าตัด ซึ่งจะใช้เฉพาะในรายที่มีอาการมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อน และการใช้ความร้อนจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ไมโครเวฟ อัลตราซาวด์ หรือเลเซอร์เพื่อทำให้ต่อมลูกหมากเหี่ยวเล็กลง และท่อทางเดินปัสสาวะกว้างขึ้น แต่วิธีนี้จะเสียค่าใช้จ่ายสูงจึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก

อย่างไรก็ดี การบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่อมลูกหมากโตก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมีงานวิจัยหลายชิ้น พบว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะต่อมลูกหมากโตได้ โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีสารเหล่านี้แต่เนิ่น ๆ เป็นประจำ ได้แก่

  1. สังกะสี (Zing) เนื่องจากเป็นแร่ธาตุที่ช่วยสร้างฮอร์โมนเพศชาย พบมากในเนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์ปีก ไข่ เมล็ดฟักทอง อาหารทะเล เนยแข็ง และธัญพืช เช่น ถั่ว และจมูกข้าวสาลี เป็นต้น
  2. ไลโคปีน (Lycopene) เป็นสารในตระกูลแคโรทีนอยด์ที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ จึงมีส่วนสำคัญในการยับยั้งการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ พบมากในมะเขือเทศสุก ฝรั่ง แตงโม ส้ม มะละกอ แครอท ส้มโอ ฟักข้าว และในผักผลไม้สีแดงต่าง ๆ ยกเว้นสตรอเบอร์รี่และเชอร์รี่
  3. เบต้าซิโตสเตอรอล (Beta-sitosterol) มีสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด และป้องกันต่อมลูกหมากโต พบมากในถั่วเหลือง จมูกข้าวสาลี และน้ำมันข้าวโพด
  4. วิตามินอี จะมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงช่วยชะลอความรุนแรงของโรคต่าง ๆ ได้ มีมากในรำละเอียด น้ำมันรำ ธัญพืช ถั่วเหลือง ถั่วแดง ผักกาดหอม เมล็ดทานตะวัน งา และน้ำมันถั่วลิสง
ใหม่กว่า เก่ากว่า