อาการปวดหลังเป็นอาการที่พบได้บ่อย มักพบได้เกือบในทุกเพศทุกวัย
โดยเฉพาะในวัยทำงาน ผู้ที่ต้องทำงานยกของหนักๆ คนที่นั่งอยู่กับที่ตลอดเวลา หรือในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องกระดูก ไปจนถึงอุบัติเหตุต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของกระดูกสันหลัง
อาการปวดเหล่านี้มักจะเป็นๆ หายๆ ทำให้หลายคนคาดเดาไปว่าอาจจะเกิดขึ้นจากการอักเสบของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ จึงหาทางออกด้วยการบีบนวดเพื่อคลายเส้น แต่หากอาการดเหล่านี้ยังคงอยู่ และรู้สึกปวดรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทางที่ดีควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ เพราะนั่นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท” ก็เป็นได้ค่ะ
ดังนั้น สำหรับใครที่รักสุขภาพและเฝ้าระมัดระวังรวมถึงใส่ใจดูแลตัวเองมาโดยตลอด คงถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันมาใส่ใจอาการของกระดูกแผ่นหลังของเราอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะบางทีในวันที่คุณรู้สึกปวดหลังขึ้นมาและหากทานยาแล้วไม่ทุเลาขึ้นเลย
กระทั่งวันเวลาผ่านไปอาการก็ยิ่งรังแต่จะปวดยาวนานต่อเนื่องเรื่อยๆ จนกลายเป็นภาวะเรื้อรัง ดังนั้น รายละเอียดทั้งหมดจากบทความนี้ มั่นใจว่าจะช่วยให้คุณไขข้อข้องใจกับอาการปวดหลังที่เจออยู่มากขึ้น ดังนี้
อาการปวดที่ควรรีบเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์อย่างเร่งด่วน
อาการที่ปวดหลังเรื้อรังมากกว่า 2 อาทิตย์ขึ้นไป ซึ่งพบได้มากในหนุ่มสาววัยทำงาน อาจจะต้องพึงระวังเอาไว้ว่านั่นเป็นสาเหตุที่มาจากระบบประสาทไขสันหลังที่ถูกกดทับ แม้จะไม่ได้ทำงานยกของหนัก ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากท่านั่งที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้กระดูกต้องรับน้ำหนักจากลำตัวมาก เกิดการบิดงอและทับเส้นประสาทจนเกิดอาการปวดเอาได้ แพทย์จึงมักแนะนำให้ผู้ป่วยเหล่านี้สังเกตอาการที่เกิดขึ้น หากยังไม่หายไปภายใน 2 อาทิตย์ ก็ควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ก่อนที่อาการจะลุกลามมากขึ้น
ลักษณะของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
ลักษณะของโรคนี้จะเกิดขึ้นจากการที่ส่วนของหมอนรองกระดูกปลิ้นโผล่ออกมาจากแนวปกติของมัน ส่งผลให้ส่วนที่ยื่นไปกดทับกับเส้นประสาทที่ห่อหุ้มอยู่บริเวณกระดูกไขสันหลัง หรือเกิดจากการฉีกขาดของเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นหมอนรองกระดูก ของเหลวภายในจะไหลออกมาส่งผลกระทบต่อเส้นประสาทด้านนอกจนเกิดการกดทับขึ้นมา
ลักษณะที่เกิดขึ้นบางครั้งก็มาจากความเสื่อมสภาพของตัวหมอนรองกระดูกเอง อายุที่มากขึ้นทำให้กระดูกสูญเสียแคลเซียม มวลกระดูกลดจำนวนลง มีความเปราะบางได้ง่าย และพบผู้ป่วยในเพศหญิงวัยหมดประจำเดือนได้มากกว่าในเพศชาย ส่วนตัวกระตุ้นที่จะทำให้โรคนี้มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้นกว่าคนปกติ ก็คือการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ร่างกายมากเกินไป
การออกกำลังกายในท่าที่ผิดๆ อุบัติเหตุที่กระแทกกับส่วนหลัง ไปจนถึงความเสื่อมสภาพโดยไม่ทราบสาเหตุ เหล่านี้คือตัวการที่จะทำให้หมอนรองกระดูกเกิดความเสียหาย ยิ่งเมื่ออายุขึ้น โอกาสในการเกิดโรคนี้ก็จะยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย
เมื่อหมอนรองกระดูกเริ่มลดปริมาณลง สิ่งที่ตามมาคือกระดูกที่เชื่อมต่อกันโดยมีส่วนของหมอนรองกระดูกที่เปรียบเสมือนตัวช่วยให้กระดูกได้รับการป้องกันไม่ให้เสียดสีลดปริมาณลง โครงสร้างไขสันหลังเกิดการทรุดตัวมากขึ้น ร่างกายจะเข้าไปแก้ไขในส่วนนั้นๆ ที่เสียหายโดยการสร้างกระดูกชิ้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ส่วนที่ทรุด เป็นส่วนที่ยื่นออกมา มีลักษณะเป็นหินปูน ส่วนนี้หากงอกออกมาในลักษณะปกติ จะไม่มีอาการปวดใดๆ เกิดขึ้น ทว่าในบางรายมันก็จะเข้าไปกดทับส่วนของประสาทไขสันหลังและทำใหเกิดอาการปวดร้าวตามมา
อาการที่บ่งชี้ได้ถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
อาการโดยทั่วไปที่พบดังที่กล่าวไปข้างต้นคืออาการปวดเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ พบได้ในกลุ่มตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งมักจะเจอในคนที่ต้องแบกหามของหนักๆ อยู่ทุกวัน หรือกลุ่มคนที่ต้องนั่งทำงานหลายชั่วโมงในออฟฟิศ ส่งผลให้ไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ กระดูกสันหลังจึงเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในวัยที่เริ่มเข้าสู่วัยทอง การเสื่อมสภาพยิ่งทวีคูณมากขึ้นหากไม่รีบดูแลตัวเอง
ส่วนการสังเกตที่ดีนอกจากอาการปวดหลังเรื้อรัง ลักษณะของมันจะแบ่งแยกจากอาการปวดทั่วไปคือจะรู้สึกปวดร้าวบริเวณหลังแบบเป็นๆ หายๆ และปวดไปจนถึงบริเวณสะโพก ต้นขา น่อง เท้า ยิ่งเดินมากอาการปวดก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นมาก เมื่อหยุดเดินและนั่งพักอาการปวดจะทุเลาลง แต่ถ้าจะให้ดีก็คือการนอนหงายราบลงไป จึงจะทำให้อาการปวดดีขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากกระดูกไขสันหลังไม่ต้องมารับน้ำหนักในการกดทับ
ที่สำคัญอาการปวดจะมากขึ้นไปอีกเมื่อทำงาน ก้มหรือเงยตัว โดยมีการงอหลัง หากไม่ได้รับการรักษาจะสังเกตแห็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังมากขึ้น เริ่มมีอาการร้าวลงไปจนถึงปลายเท้า แขน และเขาร่วมกับอาการชาด้วย อาการเหล่านี้ยังส่งผลที่จะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการอาการปวดหลังอย่างรุนแรงแบบเฉียบพลันจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีกด้วย
ขั้นตอนในการรักษา
สำหรับการรักษามีทั้งแบบผ่าตัดและไม่จำเป็นต้องผ่าตัด คนที่เป็นโรคนี้อย่าเข้าใจผิดว่าหากต้องการหายจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในความเป็นจริง เราสามารถที่จะช่วยให้อาการนี้หายไปได้ด้วยการรักษาอย่างถูกวิธี ส่วนการผ่าตัดมักจะใช้ในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงจนไม่สามารถใช้ยาในการรักษาได้แล้ว
หากผู้ป่วยที่ยังอยู่ในอาการระดับไม่รุนแรง สามารถเดินและช่วยเหลือตัวเองได้ดี แพทย์จะมีการให้ยาแก้อักเสบร่วมกับยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ และที่สำคัญจะต้องมีการทำกายภาพบำบัด พร้อมเรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่ให้อาการที่เป็นอยู่ทรุดหนักขึ้น
ในกลุ่มนี้หากดูแลตัวเองได้ตามคำแนะนำ ไม่นานอาการปวดก็จะหายไปและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปาก
ส่วนคนที่มีอาการปวดหลังอย่างหนักจนต้องนอนอยู่เฉยๆ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นที่รุนแรง แพทย์จะต้องทำการผ่าตัดเพื่อเอากระดูกที่กดทับเส้นประสาทออกไป จากนั้นจะต้องทำการรักษาตัวและกายภาพบำบัดพร้อมกับการให้ยาร่วมด้วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถหายเป็นปกติได้ในเวลาอันรวดเร็ว
การหลีกเลี่ยงโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
สำหรับการป้องกันและหลีกเลี่ยงโรคนี้ในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ยังมีอายุไม่มาก คือการหันมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น ใส่ใจกับการเปลี่ยนอิริยาบถระหว่างการทำงาน หลีกเลี่ยงการยกของหนักในท่าที่ผิดๆ พยายามอย่าปล่อยให้ร่างกายต้องอยู่ในท่าเดิมตลอดเวลา หมั่นออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสายในระหว่างวัน และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยป้องกันการเกิดโรคนี้ให้น้อยลงได้
อาการปวดหลังที่เราพบได้ในชีวิตประจำวันบ่อยครั้ง ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หากสิ่งที่เกิดขึ้นดูผิดปกติไปจากเดิม ทางที่ดีก็ควรเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาให้ถูกวิธีต่อไปค่ะ