ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม คุณอาจกำลังเป็น “โรคออฟฟิศซินโดรม!”

ในยุคที่เทคโนโลยีกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราอย่างที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้

และดูเหมือนว่ามันกำลังจะเข้ามาครอบครองความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แม้สิ่งที่เราได้รับคือความสะดวกสบาย ทว่าการใช้งานกับมันมากเกินไปกลับกลายเป็นดาบสองคม เช่นเดียวกับการทำงานในออฟฟิศของผู้คนสมัยนี้ ที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้ขยับร่างกายไปไหน

ส่งผลให้ผู้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงของโรคมากมาย ทั้งอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อที่ต้องเกร็งเป็นระยะเวลานานๆ ระบบเผาผลาญพลังงานที่น้อยลง การทำงานหนักมากขึ้น แต่กลับไม่ได้ใช้พลังงานจากอาหารที่กินเข้าไป

กลายเป็นการสะสมของไขมันและความเสื่อมสภาพของร่างกายตามมาในอนาคตอย่างไม่ทันได้ระวังตัว หากใครที่กำลังมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเช่นนี้ อาจจะกำลังเข้าใกล้ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคออฟฟิศซิมโดรมอยู่ก็เป็นได้ค่ะ

ทำความรู้จักกับออฟฟิศซินโดรม

เพราะออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่อยู่ใกล้ตัวเรา โดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มสาวที่ทำงานออฟฟิศ ดังนั้น เราจึงต้องเร่งทำความรู้จักและทำความเข้าใจโรคนี้อย่างละเอียดมากขึ้น สำหรับออฟฟิศซินโดรมนั้นโรคนี้..ถือว่าพบได้บ่อยและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนวัยหนุ่มสาวที่ต้องทำงานอยู่ในออฟฟิศ เปอร์เซ็นที่พบจะอยู่ตามเมืองหลวงที่เจริญแล้ว

เนื่องจากการเข้าถึงของเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้เราไม่ต้องยุ่งยากกับการติดต่อและทำงาน เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ทุกอย่างก็จะง่าย รวดเร็วและสะดวกขึ้น จนเราแทบจะไม่ต้องขยับร่างกายไปไหน นอกจากใช้นิ้วจิ้มคีย์บอร์ดและคลิกเมาส์อยู่ตลอดทั้งวัน

เหล่านี้คือสาเหตุของอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องกับโรคออฟฟิศซินโดรม สภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เหมาะสม การนั่งทำงานในท่าที่ผิดๆ หรือนั่งนานโดยไม่ลุกติดต่อกัน 3-4 ชั่วโมง จะส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดการอักเสบเนื่องจากการเกร็งตัวโดยที่เราอาจจะไม่รู้สึก

อีกทั้งการนั่งในท่าเดิมๆ โดยไม่เปลี่ยนอริยาบถ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บขึ้นมา ตามมาด้วยอาการปวดเมื่อยเรื้อรัง ซึ่งพบได้มากตามกล้ามเนื้อลำคอ แขน บ่า ไหล่ นิ้วมือและข้อมือที่เกิดจากการเกร็งเป็นเวลานาน ส่วนอาการที่เสี่ยงและน่ากลัวมากที่สุดคือโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ซึ่งมาจากการนั่งผิดท่า หรือขยับตัวผิดจังหวะ หากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลให้เกิดการเจ็บปวดอย่างรุนแรง และอาจจะต้องเข้ารับการผ่าตัดอีกด้วย

[alert-success]อาการปวดหลังจากการนั่งทำงานติดต่อกันนานๆ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม หากไม่รุนแรงมากนักมักจะมาจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อบริเวณหลังทั่วไป แต่หากมีอาการปวดที่รุนแรง ต่อเนื่องและไม่หายไปซักทีก็อาจจะเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกที่เข้าไปกดทับเส้นประสาทก็เป็นได้[/alert-success]

ดังนั้นหากลองสังเกตให้ดีสำหรับหนุ่มสาวที่ทำงานออฟฟิศ มักจะพบอาการหลักๆ คือปวดเมื่อยบริเวณ เส้นประสาท กล้ามเนื้อ กระดูกและส่วนของข้อ มีอาการแขนขาไม่มีแรง ชา กล้ามเนื้อเกร็งและกระตุกแบบอัตโนมัติ กระดูกมีเสียงเมื่อเคลื่อนไหว ไม่สามารถนั่งตัวตรงได้

ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม คุณอาจกำลังเป็น “โรคออฟฟิศซินโดรม!

ลักษณะของกระดูกสันหลังโค้งงอผิดปกติ มีพังผืดเกิดขึ้นบริเวณต้นคอ ข้อนิ้วและข้อมือ ส่วนบริเวณดวงตาที่ต้องจ้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ มักเสี่ยงที่จะทำให้จอประสาทตาเสื่อมสภาพ ปวดบริเวณกระบอกตา ปวดศีรษะจากการใช้ดวงตามากเกินไป จนทำให้หลายคนเชื่อว่าอาการปวดที่เกิดขึ้นมาจากโรคไมเกรน แต่ในความเป็นจริงมันกลับมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมในการทำงานเป็นตัวหลักมากกว่า

สภาพความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคออฟฟิศซินโดรม

โรคนี้มาจากพฤติกรรมในการทำงานเป็นปัจจัยกระตุ้นหลัก ดังที่กล่าวไปข้างต้นคือการนั่งในท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อไม่ถูกยืดหยุ่น ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของโต๊ะทำงานและเก้าอี้ที่ไม่สอดรับกับสรีระ

ทำให้เกิดการใช้งานที่ไม่สะดวกสบาย การหยิบจับสิ่งของดูทุลักทุเลจนทำให้กล้ามเนื้อเกิดการเกร็งอยู่บ่อยๆ ส่วนเก้าอี้ที่ใช้นั่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

บางคนนั่งกับเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพิง ไม่มีที่วางแขน จนทำให้เกิดอาการปวดเมื่อย ตำแหน่งคีบอร์ดที่ไม่สมดุล รวมไปถึงตำแหน่งเมาส์ ส่งผลให้การวางมืออยู่กับพื้นที่แข็งๆ เป็นเวลานาน เสี่ยงที่พังผืดจะเข้ามายึดเกาะจนเกิดอาการเจ็บปวดเรื้อรัง

[alert-warning]การใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเกิน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน อีกทั้งการอดหลับอดนอน ทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน กระทบไปถึงความเร่งรีบ ไม่มีเวลาในการดูแลตัวเองทั้งอาหารและการขับถ่ายที่ถูกมองข้าม เหล่านี้คือสภาพความเสี่ยงที่จะนำพาผู้คนไปสู่อาการเจ็บป่วยตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง ซึ่งโรคที่พบได้มากและหลายคนแทบจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่าเกิดจากพฤติกรรมตัวเองมีดังต่อไปนี้[/alert-warning]

โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

เป็นโรคยอดฮิตสำหรับคนทำงานออฟฟิศพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งพบมากในคนทำงานวัย 25-30 ปี มีสาเหตุมาจากการนั่งทำงานนานๆ จนต้องกลั้นปัสสาวะเอาไว้โดยไม่รู้ตัว พฤติกรรมนี้หากทำจนติดนิสัยเป็นประจำจะทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เนื่องจากการย้อนกลับขึ้นไปของเชื้อแบคทีเรีย และเกิดการอักเสบตามมา

โรคความดันโลหิตสูง

แม้ว่าโรคนี้เหมือนจะพบได้มากในวัยผู้สูงอายุ ทว่าในปัจจุบันเราสามารถพบอาการผิดปกติของระบบความดันเลือดได้ในวัยหนุ่มสาว คนที่เสี่ยงสูงว่าจะเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไปยังมาจากลักษณะทางกรรมพันธุ์ บวกรวมกับความเร่งรีบในการดำเนินชีวิต ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการเลือกกินอาหาร การนอนหลับไม่เพียงพอ ขาดการออกกำลังกายอย่างเหมาะสม อาหารส่วนใหญ่ที่คนเหล่านี้กินเข้าไปมักจะอุดมไปด้วยไขมันทรานซ์ แป้งและน้ำตาลในปริมาณสูง เป็นแคลลอรี่ที่มากเกินความต้องการของร่างกาย อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิต เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงตามมานั่นเอง

โรคอ้วน

โรคยอดฮิตของชาวออฟฟิศ ที่เลือกกินแต่อาหารตามใจปาก และยังไม่มีเวลาในการเลือกสรรอาหารดีๆ เพื่อตัวเอง คนที่ทำงานออฟฟิศจึงมักไม่ค่อยได้ทำอาหารด้วยตัวเอง เมื่อต้องฝากท้องไว้กับเมนูข้างทางหรืออาหารจานด่วน จึงทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอ้วนได้ง่าย เพราะอาหารส่วนใหญ่มีไขมันและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอยู่มาก อีกทั้งการขาดการออกกำลังกาย ทำให้ไขมันสะสมอยู่ตามชั้นผิวหนัง โดยเฉพาะหน้าท้อง ต้นแขน และต้นขา และตามมาด้วยภาวะน้ำหนักเกินในที่สุด

อาการตาพร่ามัวและโรคต้อหิน

ความเสี่ยงที่หนุ่มสาวในวัยนี้จะต้องเผชิญจากการนั่งอยู่หน้าจอคอมหรือนั่งเล่นมือถือสมาร์ทโฟนอยู่เกือบตลอดเวลา ทำให้ดวงตาของเราถูกใช้งานอยู่ตลอดทั้งวัน สิ่งที่ตามมาคืออาการเสื่อมสภาพของเยื่อบุนัยตา เมื่ออายุมากขึ้นจะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะเกิดโรคต้อหิน สังเกตให้ดีว่าหลังจากการทำงานแล้วมีอาการตาพร่าเลือนบ่อย นั่นแสดงให้เห็นว่าดวงตากำลังเหนื่อยล้าและต้องการๆ พักผ่อนให้มากขึ้น หากได้รับการรักษาไม่ทันการ ก็อาจจะรุนแรงถึงขั้นตาบอถาวรได้

ปวดศีรษะเรื้อรัง

อาการปวดหัวหรือที่เรามักพบส่วนใหญ่คือโรคไมเกรน แต่บางครั้งอาจจะมาจากสาเหตุกระตุ้นระหว่างความเครียดในการทำงานบวกรวมกับการใช้สายตามากกเกินไปและนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ บางรายก็มีปัจจัยแวดล้อมภายนอกมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด กลิ่น ควันรถและอาหารร่วมด้วย อาการที่เกิดขึ้นมักจะปวดข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดบริเวณศรีษะทั้งหมดเท่าๆ กันร่วมกับกระบอกตา ท้ายทอย และขมับทั้งสองข้าง หากเป็นบ่อยๆ อาจจะทำให้อาการรุนแรงเพิ่มความระดับในการปวดมากขึ้นจนกระทบต่อความสามารถในการทำงานเอาได้ก

ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคออฟฟิศซินโดรม

จะเห็นได้ว่าโรคออฟฟิศซินโดรมล้วนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายอย่างมากมาย โดยที่หลายคนคาดไม่ถึง ดังนั้นการหันมาดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตเสียใหม่ ความเร่งรีบที่ต้องแข่งกับเวลา จะต้องหันมาวางแผนเพื่อให้ช่วงเวลาของการผ่อนคลายและได้ดูแลตัวเองบ้าง

[alert-note]ในช่วงของการทำงาน ไม่ควรนั่งอยู่กับที่ตลอดเวลา ให้มีช่วงที่ได้บริหารกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณต้นคอ บ่า ไหล นิ้วมือ แขนและขา รวมไปถึงการผ่อนคลายดวงตาทุกๆ 1 ชั่วโมง มองไปยังพื้นที่ๆ ไม่มีแสงแดดจ้า หรือผนังสีอ่อนสบายตา โดยเฉพาะสีเขียวของต้นไม้ที่จะช่วยผ่อนคลายดวงตาได้มากที่สุด หรือหากให้ดีก็ให้หลับตาและกลอกลูกตาไปมาเพื่อช่วยบริหารกล้ามเนื้อตาไปในตัวประมาณ 5-10 นาที ที่สำคัญพยายามกระพริบตาบ่อยๆ เพื่อป้องกันตาแห้ง และไม่ควรจ้องหน้าจอที่สว่างมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดและเมื่อยล้าดวงตาขึ้นมาได้ง่าย[/alert-note]

แบ่งเวลาสำหรับการออกกำลังกายในแต่ละวันให้ได้อย่างน้อย 15 นาทีขึ้นไป จะช่วยให้กล้ามเนื้อได้รับการยืดหยุ่น หลีกเลี่ยงการนั่งเป็นเวลานานๆ ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายบ้างเป็นครั้งคราวทุกๆ 1-2 ชั่วโมงต่อครั้ง เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง พักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามปล่อยวางเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเครียดเรื้อรังตามมา

เมื่อโลกกำลังหมุนเวียนเปลี่ยนไปสู่ยุคที่เราไม่ต้องออกไปวิ่งล่าสัตว์หรือปลูกผักเพื่ออาหาร การทำงานที่สะดวกสบายและชีวิตที่ไม่ต้องดิ้นรนมากมายเหมือนคนในยุคก่อน เราก็ควรจะปรับตัว และหันมาดูแลตัวเองให้มากขึ้น เพราะอย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของร่างกายก็ยังต้องการๆ พักผ่อนและได้รับสิ่งที่ดี ก็จะช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์แบบได้ต่อไปอีกนาน

ใหม่กว่า เก่ากว่า