เจาะลึกโรคโลหิตจางและการดูแลตัวเองของผู้ป่วย

โรคภัยใกล้ตัวเราบางโรคก็มีภาวะความรุนแรงจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต

หรือได้รับความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสไม่ต่างจากการตายทั้งเป็น

ในขณที่บางโรคนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ได้นำความเจ็บป่วยหรือทุกข์ทรมานแต่อย่างใดมาสู่ร่างกาย เช่นโรคที่เกี่ยวกับเลือดอย่างโลหิตจาง

ใครเลยจะคาดคิดว่าโรคนี้จะมีความอันตรายรุนแรงมากน้อยเพียงใด เพราะมองผิวเผินก็เหมือนผู้ป่วยยังคงมีอาการปกติเหมือนคนทั่วไป

แต่กระนั้นใช่ว่าจะเป็นโรคที่เกิดขึ้นแล้วควรชะล่าใจหรือปล่อยไว้ไม่รีบรักษา เพราะหากคุณหันมาทำความรู้จักโรคนี้อย่างละเอียดมากขึ้น

บางทีมันอาจทำให้คุณได้สติเตือนตัวเองและพาตัวเองตรวจรักษาเพื่อให้รู้เท่าทันโรคทุกโรค เราจะได้มีอายุที่ยาวนานมากขึ้นต่อไป ใครที่รักสุขภาพ

ไม่อยากมีชีวิตอยู่บนโลกนี้ท่ามกลางปัญหาเจ็บป่วย ตามเรามาเจาะลึกโรคโลหิตจางตลอดถึงการดูแลตัวเองไปพร้อมกันเลยนะคะ

ทำความรู้จักโรคโลหิตจาง

ภาวะเลือดจางหรือโรคโลหิตจาง (Anemia or Anaemia) เป็นโรคที่สามารถพบได้บ่อย และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย บางรายอาจจะมีอาการไม่มาก

แต่บางรายมีอาการรุนแรงจนทำให้หน้ามืดหมดสติเนื่องจากเลือดไม่สามารถลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ

ลักษณะการเกิดของโรคโลหิตจาง

โรคโลหิตจางเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการที่มีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ หรือความเข้มสีของเม็ดเลือดดูจางลงไปจนถึงปริมาณฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดที่ไม่เพียงพอก็ล้วนเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคนี้ขึ้นได้

โดยทั่วไปเราแบ่งสาเหตุตามการวินิจฉัยของแพทย์ได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1.เลือดจางจากภาวะเม็ดเลือดแดงแตก

สาเหตุนี้พบได้ในผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์จี-6-พีดี และโรคทาลัสซีเมียที่เกิดขึ้นจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยทั่วไปเม็ดเลือดแดงจะคงอยู่ในร่างกาย 120 จึงจะมีเซลล์เม็ดเลือดชุดใหม่ถูกสร้างขึ้นมาแทนที่จากไขกระดูก

แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะเม็ดเลือดแดงแตก จะส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดที่เหลืออยู่ไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดจาง และตามมาด้วยผลค้างเคียงที่รุนแรงได้

2.เลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก

ภาวะขาดธาตุเหล็กจนทำให้เกิดโรคเลือดจางถือว่าเป็นอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก หากผู้ป่วยได้รับธาตุเหล็กเสริมเข้าไปมากพอ ร่างกายก็จะสามารถทำงานได้ตามปกติ

ซึ่งภาวะนี้พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กที่อยู่ตามชนบท บ้านยากจน และผู้ที่ขาดแคลนอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนี้ภาวะขาดธาตุเหล็กยังเกิดขึ้นได้จากคนที่มีโรคริดสีดวงทวารเรื้อรัง และในกลุ่มที่มีแผลในกระเพาะอาหารด้วย

3.เลือดจางจากไขกระดูกฝ่อ

หน้าที่สำคัญของไขกระดูกคือสร้างเม็ดเลือดแดงใหม่ทุก 120 วัน เมื่อใดก็ตามที่อวัยวะชิ้นนี้ทำงานไม่ได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อความเข้มข้นของเลือด ปริมาณเม็ดเลือดแดงจึงถูกสร้างได้น้อยลง

ซึ่งการฝ่อของไขกระดูกนี้อาจจะเกิดขึ้นจากความผิดปกติตั้งแต่แรกเกิดและสาเหตุที่ยังไม่แน่ชัด แต่เชื่อว่ามาจากการรับประทานยาบางชนิด การรับสารพิษ และการปนเปื้อนรังสีเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น

อาการที่พบได้ทั่วไปของโรคโลหิตจาง

โดยทั่วไปจะไม่สามารถตรวจพบได้ในช่วงแรกที่เป็น แต่จะเริ่มปรากฏอาการมากขึ้นเมื่อสังเกตได้ว่าผู้ป่วยมีสีผิวที่ขาวซีดคล้ายคนไม่มีเลือด ปากแห้งลอกและจางคล้ายคนจะเป็นลม

บางรายมีอาการหอบเหนื่อยง่ายแม้จะเป็นการออกแรงเพียงเล็กน้อย รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายจะเป็นไข้ ไม่ค่อยสบายตัว ปวดเมื่อย หายใจลำบากหรือหายใจแรง รู้สึงวิงเวียนศีรษะ หายใจไม่ทั่วท้อง สับสน รู้สึกคิดอะไรไม่ค่อยออก ไม่มีสมาธิและหลงๆ ลืมๆ ได้ง่าย

การรักษาระดับของออกซิเจนในเลือดยังเป็นสิ่งที่ร่างกายพยายามรักษาสมดุลเอาไว้

ดังนั้นมันจึงปรับตัวโดยการเปลี่ยนให้หัวใจสามารถส่งออกซินเจนไปเลี้ยงร่างกายได้รวดเร็วขึ้น ส่งผลให้การเต้นของหัวใจแปรผันตรงกับปริมาณออกซินเจนที่ต้องใช้ ทำให้บางคนรู้สึกว่าตัวเองมีภาวะหัวใจสั่น ปวดแน่นบริเวณหน้าอกคล้ายโรคหัวใจ และหากมีโรคหัวใจเป็นทุนเดิมด้วยแล้ว จะเกิดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายได้ง่าย

อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่พบอาการของโรคโดยตรง แต่จะสามารถสังเกตได้จากความผิดปกติอื่นๆ อย่างเช่นผิวหนังและเนื้อเยื่อบางส่วนมีสีซีดจาง การงอกของเล็บผิดรูปคล้ายเล็บรูปช้อน หากรุนแรงจะมีภาวะตัวเหลืองหรือที่เรียกกันว่าดีซ่าน กระดูกเจริญเติบโตไม่เต็มที่ สรีระผิดปกติ และหากตรวจรูปร่างของเม็ดเลือดแดงจะพบโรคเลือดจางในกลุ่มเม็ดเลือดแดงรูปเคียว

ส่วนอาการที่รุนแรงและเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ง่าย จะปรากฏให้เห็นในรูปของระบบไหลเวียนเลือดที่ผิดปกติ มีการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว มีเสียงคล้ายลมฟู่ดังออกมา ตามมาด้วยภาวะหัวใจโตจากการทำงานหนัก

หากพบโรคนี้ตั้งแต่ในเด็กก็จะทำให้เด็กอายุสั้น เจริญเติบโตช้า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและพัฒนาการทางด้านสมองในด้านการเรียนรู้

การดูแลรักษาในผู้ป่วยที่มีภาวะโลหิตจาง

การรักษาในผู้ป่วยเหล่านี้ แพทย์จะทำการวินิจฉัยตั้งแต่ปริมาณเม็ดเลือดแดงและลักษณะว่าผิดปกติมากน้อยแค่ไหน โดยวิธีการ “ตรวจนับเม็ดเลือดอย่างสมบูรณ์ (CBC)” เพื่อหาว่าผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดจางอยู่ในระดับไหน จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาอื่นๆ ต่อไป พร้อมให้คำแนะนำการดูแลตัวเอง ในบางรายที่มีภาวะเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก แพทย์จะทำการเสริมธาตุเหล็กเข้าไปด้วย จากนั้นจะติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

การรักษาตัวเองของผู้ป่วยโรคเลือดจางจะต้องหมั่นดูแลให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ โดยเน้นรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก ออกกำลังกายให้เหมาะสม หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่ทำให้กระเพาะอาหารระคาย

ใหม่กว่า เก่ากว่า