ลมเย็นๆ ที่โชยมา ..เป็นช่วงเวลาของฤดูหนาวที่พัดผ่านเข้ามาอย่างเต็มตัว
ใครที่มีปัญหาระบบภูมิคุ้มกันต่ำย่อมเจ็บป่วยเป็นหวัดง่ายเป็นธรรมดา ทว่าในบางกรณีหากใครที่มีอาการหวัดบ่อย
ไม่ว่าจะเป็นแบบเรื้อรังหรือเป็นภูมิแพ้อยู่แล้วก็อาจยิ่งแพ้อากาศง่ายดายมากขึ้นหรือใครที่ไม่ได้เป็นภูมิแพ้ อาการหวัดที่คุณเป็นอยู่อาจจะเกิดจากการติดเชื้อจนนำมาสู่การเป็นไซนัสได้เช่นเดียวกัน
วันนี้เราจะพาคุณมาทำความรู้จักไซนัสอักเสบที่มักเกิดขึ้นกับใครหลายคน จะได้รับมือป้องกันและรักษากันตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ให้อาการลุกลามบานปลายหนักขึ้น
เพราะฉะนั้น ไซนัสคืออะไร? อาการ การวินิจฉัย การรักษาและรับมือป้องกันต้องทำอย่างไรบ้าง มาติดตามไปพร้อมกันเลยค่ะ
photo credit: Reena Mahtani
ไซนัสคือ อะไร?
ไซนัส (Sinusitis) คือ โพรงอากาศที่อยู่ภายในกะโหลก มี 4 ตำแหน่งเป็นคู่ๆ ด้วยกัน คือ
ตำแหน่งที่ 1 หน้าผาก โดยอยู่ใกล้กับหัวคิ้ว 2 ข้าง (frontal sinus)
ตำแหน่งที่ 2 บริเวณหัวตา 2 ข้าง (ethmoid sinus)
ตำแหน่งที่ 3 บริเวณโหนกแก้ม 2 ข้าง (Maxillary sinus)
ตำแหน่งที่ 4 บริเวณกะโหลกศีรษะ โดยอยู่ใกล้กับฐานสมอง (sphenoid sinus)
หน้าที่ของไซนัส
ไซนัสจะมีหน้าที่ช่วยให้กะโหลกศีรษะของเราเบาขึ้น ขณะที่เราพูดก็จะเกิดเป็นเสียงก้องกังวาน (เนื่องจากเป็นโพรงอากาศ) อีกทั้งเยื่อบุไซนัสและจมูกยังทำหน้าที่ในการผลิตน้ำมูกซึ่งเป็นเมือกใสออกมาวันละ 0.5-1 ลิตรเพื่อช่วยในการดักจับฝุ่นละอองรวมถึงสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ที่เราสูดหายใจเข้าไป
เยื่อบุดังกล่าวยังมีขนอ่อนเล็กๆ ภายในซึ่งจะช่วยทำหน้าที่ในการโบกพัดน้ำมูกให้ไหลลงไปยังด้านหลังของจมูก ผ่านช่องคอก่อนจะกลืนลงไปสู่กระเพาะอาหารจากนั้นก็จะถูกกรดในกระเพาะกำจัดเชื้อให้หมดไปซึ่งเป็นกลไกการฆ่าเชื้อตามธรรมชาติของร่างกายนั่นเอง
ไซนัสอักเสบเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ไซนัสอักเสบเกิดขึ้นจากการที่จมูกได้รับการติดเชื้อ โดยจะมีอาการอักเสบอาจเนื่องจากการเป็นหวัด ภูมิแพ้ หรือมีสารที่ก่อให้เกิดความระคายเคือง เกิดสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในจมูก อีกทั้งยังอาจเป็นเพราะมีฟันกรามผุจนถึงโพรงของรากฟัน นอกจากนี้ การที่ผู้ป่วยเป็นโรคหัดและหากเคยเกิดอุบัติเหตุจนมีผลกระทบต่อกระดูกบนใบหน้าก็ย่อมส่งผลให้ท่อที่ต่อกับระหว่างโพรงไซนัสและจมูกมีอาการบวมและตีบตันขึ้นได้
เมื่อเกิดอาการดังกล่าวแล้วก็จะทำให้เกิดน้ำเมือกขังอยู่ภายในโพรงจมูกในเวลาต่อมา และหากสภาพของมูกเกิดการสะสมในปริมาณมากขึ้นก็แปรสภาพเหนียวหนืดและเกิดความเป็นกรดขึ้นได้ ส่งผลให้เชื้อโรคที่เข้าไปภายในเกิดการสะสมและเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ดังนั้นแล้ว ด้วยประการดังกล่าวผู้ป่วยจึงกลายเป็นภาวะโพรงจมูกอักเสบหรือที่เราเรียกกันว่า ‘ไซนัสอักเสบ’
อาการของไซนัสอักเสบแบ่งออกได้ 2 ชนิด ดังนี้
1.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน
ไซนัสอักเสบชนิดนี้จะเกิดเนื่องจากการติดเชื้อไวรัส โดยสามารถหายเองได้ภายใน 7 วัน อาการทั่วไปจะเหมือนกับผู้ป่วยเป็นเพียงไข้หวัดปกติซึ่งมีไข้ร่วมด้วย แต่หากเกิดการติดเชื้อจนมีการลุกลามไปสู่ไซนัสก็จะมีอาการที่รุนแรงขึ้น กล่าวคือ มีอาการปวดจมูก ปวดกระบอกตาหรือแก้มข้างใดข้างหนึ่งและอาจปวดได้พร้อมกันทั้งสองข้าง พร้อมกันนี้ ยังมีน้ำมูกและเสมหะซึ่งจะมีลักษณะสีเหลืองอมเขียวชัดเจน บางรายอาจมีอาการปวดกระดูกขากรรไกรบนหรือปวดฟันบนร่วมด้วยได้หากมีอาการดังกล่าวผู้ป่วยจะมีโอกาสติดเชื้อจนเกิดการลุกลามสูง ดังนั้น ไม่ควรปล่อยไว้อย่างยิ่ง ควรรีบรักษาอย่างจริงจังดีกว่าจะได้บรรเทาอาการและลดความเสี่ยงในการเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรังตามมา
2.ไซนัสอักเสบเรื้อรัง
เป็นไซนัสอักเสบที่มีสาเหตุการเกิดมาจากเชื้อแบคทีเรีย โดยผู้ป่วยจะมีอาการมาแล้วมากกว่า 10 วัน และในระหว่างนั้นอาการต่างๆ ก็จะยังคงมีอาการให้พบอยู่หรือยังไม่หายสนิทนั่นเอง ผู้ป่วยมักมีลักษณะอาการปวดแบบตื้อๆ มึนงงไปพร้อมกับการคัดจมูกแบบเรื้อรัง เสมหะในลำคอก็เหนียวตลอดวันอันเนื่องจากมูกที่สะสมอยู่ภายใน โดยมูกจากไซนัสจะเกิดการไหลลงมายังจมูก ส่งผลให้การดมกลิ่นหรือการรับกลิ่นมีประสิทธิภาพลดลง ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยมีลมหายใจที่เหม็นไปด้วย
สาเหตุที่ก่อให้เกิดไซนัสอักเสบเรื้อรังได้นั้น เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาในระยะเฉียบพลันอย่างถูกต้องหรือไม่ได้รักษาให้หายขาด อาจมีเวลารักษาน้อยเกินไปจนเชื้อและอาการยังคงไม่หายขาดสนิท นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงภาวะผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น จมูกมีอาการอักเสบเพราะเป็นภูมิแพ้ สูบบุหรี่และพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
กลุ่มคนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นไซนัสอักเสบ
การเป็นไซนัสอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายมาก โดยเป็นได้ตั้งแต่เด็กทารก นอกจากนี้ เรามาดูกันเพิ่มเติมนะคะว่าใครที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการเกิดไซนัสอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป
1.ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ทางจมูก เพราะคนที่เป็นภูมิแพ้มักจะมีอาการเหมือนเป็นหวัด เยื่อบุจมูกจะมีอาการบวม รูเปิด ไซนัสมีการตีบจนทำให้มีอาการอักเสบไซนัสได้นั่นเอง
2.ผู้ที่ช่องจมูกมีปัญหาผิดปกติ เช่น ผนังกั้นในระหว่างช่องจมูกเกิดการคดส่งผลให้ช่องจมูกแคบจนเกิดอาการคัดแน่นจมูกตามมา และยังขัดขวางการไหลเวียนของน้ำมูกให้เกิดปัญหาผิดปกติอีกด้วย จึงทำให้มีการอักเสบและติดเชื้อง่ายมากขึ้น
3.ผู้ที่ชอบสูบบุหรี่และการอยู่ในเขตที่มีภาวะเป็นพิษ ทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายทำงานแย่ลง การต่อต้านการติดเชื้อก็ด้อยประสิทธิภาพจึงนำมาสู่โอกาสการเป็นไซนัสอักเสบง่ายขึ้น
4.การว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่มีการใส่น้ำยาคลอรีนหรือฆ่าเชื้อด้วยโอโซน ก็อาจนำมาสู่โอกาสในการเกิดไซนัสอักเสบได้เช่นเดียวกัน เพราะจะทำให้มีความระคายเคืองเกิดขึ้นที่เยื่อบุจมูกนั่นเอง
ไซนัสอักเสบกับการเกิดโรคแทรกซ้อน
จริงๆ แล้ว การเป็นไซนัสอักเสบนั้นจะไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจเลยค่ะ หากเราใส่ใจรักษาอย่างถูกต้องและรักษาจนกว่าจะหายขาดจริงๆ มันก็จะไม่เป็นอันตรายแต่ใดอย่างแน่นอน แต่ขณะเดียวกัน ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบก็ย่อมมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ ดังนี้
1.เกิดภาวะติดเชื้อจนกลุกลามไปถึงกระบอกตา
อาการดังกล่าวจะทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ตาเกิดการอักเสบและเกิดเป็นฝีรอบๆ ตา (Periorbital abcess)ได้ด้วย โดยมากมักพบในเด็กและผู้สูงอายุซึ่งจะมีความรุนแรงจนถึงขั้นตาบอดได้เลยทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วมักจะพบว่าผู้ป่วยมีอาการตาบวมเพียงข้างเดียวเท่านั้น โดยตาจะแดงอยู่รอบๆ และแดงภายในลูกตา หนังตามีลักษณะบวมเมื่อกดลงไปจะรู้สึกเจ็บ ลูกตาโปน แพทย์จะรักษาด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะและให้การผ่าตัด
2.โรคแทรกซ้อนขึ้นสมอง
โดยจะเกิดภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือเกิดฝีใต้เยื่อหุ้มสมองนั่นเอง ส่วนใหญ่มักพบในเด็กและผู้สูงอายุเช่นเดียวกัน หากปล่อยไว้เนิ่นนานจนไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โอกาสในการติดเชื้ออย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตก็ย่อมเป็นไปได้สูง
3.ริดสีดวงจมูก
มีลักษณะเป็นก้อนๆ ภายในจมูกโดยเกิดจากภาวะของไซนัสอักเสบเรื้อรังหรือเกิดมาจากการเป็นภูมิแพ้ ไม่มีการลุกลามไปยังส่วนอื่น แต่กลับสามารถเบียดกระดูกได้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยทานยาแก้แพ้ซึ่งจะทำให้อาการดังกล่าวยุบและบรรเทาเบาบางลงได้ พร้อมกันนี้ ยังสามารถการรักษาโดยการผ่าตัดซึ่งเป็นวิธีช่วยรักษาให้หายได้ดีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม อาการแทรกซ้อนดังกล่าวไม่ได้พบบ่อยเท่าไรนักค่ะ สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเรื้อรังก็อาจจะมีความสัมพันธ์ของโรคอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคทางปอด หลอดลมอักเสบ หอบหืด ไอเรื้อรังและหูชั้นกลางอักเสบ
การวินิจฉัยไซนัสอักเสบ
โดยปกติแล้ว ในผู้ป่วยที่เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา อาการไข้ เจ็บคอและปวดเมื่อยตามตัวมักจะหายไปได้เองภายใน 7-10 วัน ในขณะที่อาจจะยังมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลและไออยู่บ้าง โดยสามารถเป็นต่อเนื่องได้อีกถึง 2-3 สัปดาห์ ทั้งนี้แล้วแต่ความรุนแรงของของอาการที่ผู้ป่วยเป็นอยู่จนกระทั่งเชื้อโรคจะค่อยๆ ลดลงและหายไปเองในที่สุด
อย่างไรก็ดี หากระยะเวลาผ่านพ้นไปกว่า 10 วันได้แล้ว แต่อาการต่างๆ ของไข้หวัดยังไม่มี่แววจะลดลงแต่อย่างใด หรือบางช่วงหรือตอนกลางคืนอาจจะมีอาการทรุดตัวหนักขึ้นและยังวนกลับมาเป็นซ้ำเหมือนเดิมอีก และหากผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณใบหน้า ก็สันนิษฐานได้ค่ะว่าอาจจะเป็นไซนัสอักเสบซึ่งเกิดมาจากเชื้อแบคทีเรียก็เป็นได้ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลลงไปในรูจมูกหรือไหลลงไปในลำคอ และอาจมีอาการปวดตื้อๆ ด้านข้างจมูกและในส่วนของใบหน้าตามมาได้ด้วย
หากมีอาการดังกล่าว แพทย์ก็จะตรวจโพรงจมูกและไซนัสด้วยการกล้องส่องตรวจพิเศษ สำหรับอาการที่เห็นชัดเจนว่าเป็นไซนัสอักเสบนั้นก็คือ จะพบมูกหนองบริเวณช่องข้างจมูกชั้นกลาง ในส่วนดังกล่าวเป็นทางระบายมูกออกจากโพรงไซนัสเข้ามาทางช่องจมูก พร้อมกันนี้ การตรวจในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจจะต้องเก็บเอามูกหนองนั้นไปเพราะเชื้อตรวจเพื่อวินิจฉัยในลำดับต่อไป
นอกจากนี้ อาจจะพิจารณาตรวจทางรังสีวิทยาพร้อมกันด้วย โดยการเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) วิธีการดังกล่าวจะสามารถให้รายละเอียดของโรค รวมถึงบอกลักษณะโครงสร้างทางกายวิภาคของโพรงจมูกและไซนัสได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถนำมาซึ่งการวินิจฉัยแยกแยะจากโรคอื่นๆ ที่มีลักษณะของอาการคล้ายกันกับไซนัสอักเสบได้ดีขึ้นอีกด้วย
การรักษาไซนัสอักเสบ
หากเป็นไซนัสอักเสบซึ่งเกิดจากไวรัสก็จะสามารถหายไปเองได้ในเวลาไม่เกิน 7 วัน โดยผู้ป่วยจะต้องใส่ใจดูแลตัวเองอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้มาก ออกกำลังกายอยู่เสมอ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไร้ซึ่งมลภาวะทางพิษหรือสถานที่อาศัยจะต้องมีอากาศระบายถ่ายเทดีและที่สำคัญควรทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
การรักษาไซนัสอักเสบสามารถแบ่งวิธีรักษาทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรังดังได้ดังนี้
วิธีรักษาไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน
– ทานยาปฏิชีวินะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียและควรทานต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 10-14 วัน
– ใช้ยาพ่นจมูกชนิดสเตียรอยด์ซึ่งควรใช้คู่กันกับยาปฏิชีวนะ
– ยาลดอาการบวมมีชนิดทั้งรับประทานและแบบพ่นหรือหยอดจมูก โดยจะช่วยบรรเทาอาการคัดแน่นจมูกได้ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 3-5 วัน
– ใช้ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิตามีนซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด มีทั้งที่ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงและไม่ง่วง
– ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือซึ่งนับเป็นอีกวิธีที่สามารถทำได้ง่ายๆ เช่นกันและยังช่วยให้ไซนัสอักเสบดีขึ้น จะช่วยลดความเหนียวหนืดของมูก และเพิ่มการทำงานของเซลล์ชนิดที่มีขนอ่อนให้สามารถพัดโบกภายในโพรงจมูกและไซนัสได้
– รักษาด้วยการสูดดมไอน้ำร้อน
วิธีรักษาไซนัสอักเสบแบบเรื้อรัง
หากผู้ป่วยรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผลก็อาจก่อให้เกิดการอักเสบขึ้นได้หลายครั้งซ้ำๆ ตลอดจนถึงภาวะที่เกิดการแทรกซ้อนซึ่งมาจากการอักเสบเฉียบพลันทางตา สมองและกระดูกในบริเวณใกล้เคียง แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องเอนโดสโคป เช่น เจาะล้างไซนัสเพื่อล้างเอามูกหนองที่สะสมค้างในท่อออกไปหรือผ่าตัดเพื่อช่วยขยายรูเปิดของไซนัส ซึ่งปัจจุบันการตรวจรักษาและผ่าตัดนั้นค่อนข้างมีความปลอดภัยสูงและยังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ทั้งยังช่วยให้สภาพโครงสร้างสำคัญของช่องจมูกยังคงสภาพปกติเช่นเดิมไว้ได้ ผู้ป่วยก็ไม่สูญเสียเลือดมากและยังฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วด้วยค่ะ
วิธีล้างจมูกด้วยน้ำเกลือทำได้ด้วยตัวคุณเอง
1.คุณสามารถใช้น้ำเกลือที่ซื้อจากร้านขายยาปกติหรือผสมน้ำเกลือขึ้นไว้ใช้เองก็ได้ค่ะ ส่วนผสมก็คือ ใช้น้ำสะอาดปริมาณ 750 ซีซีผสมกับเกลือสะอาด 1 ช้อนชา หรือ 0.9% normal saline ซึ่งไม่มีน้ำตาลเป็นส่วนผสม เพียงเท่านี้ก็จะได้น้ำเกลือไว้สำหรับล้างจมูกด้วยตัวเองแล้ว
2.วิธีการล้างเริ่มจากให้เทน้ำเกลือลงใส่ในแก้วน้ำที่สะอาด
3.ดูดน้ำเกลือจากแก้วเข้ามาในลูกยางหรือหลอดฉีดยา (Syringe) ที่ไม่มีเข็มหรือจะนำมาใส่ในขวดยาพ่นจมูกก็ได้
4.พ่นน้ำเกลือออกจากลูกยางหรือจากหลอดฉีดเข้ามายังข้างในจมูกข้างหนึ่ง ซึ่งคุณต้องอยู่ในท่าก้มหน้า กลั้นหายใจเอาไว้ในระหว่างฉีดน้ำเกลือเข้าจมูก พร้อมกับอ้าปากเล็กน้อยแล้วค่อยๆ ฉีดเข้าไปในจมูก
5.หลังจากฉีดเสร็จแล้วก็หายใจออกไปพร้อมกับสั่งน้ำมูก ถ้าน้ำมูกหรือน้ำเกลือไหลย้อนลงคอก็ให้กลั้วคอแล้วบ้วนทิ้งไป หากล้างแล้วยังไม่โล่งขึ้นก็สามารถทำซ้ำอีกได้จนกว่าน้ำมูกจะออกหมด ทำเช่นนี้ซ้ำกับจมูกอีกข้างก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
การดูแลตัวเองสำหรับผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบ
1.หลีกเลี่ยงการเผชิญกับสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้เป็นหวัด ภูมิแพ้ เพราะส่วนใหญ่ผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบมักเกิดขึ้นจากโรคภูมิแพ้จมูก ดังนั้น จึงต้องหมั่นสังเกตตัวเองว่าสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดขึ้นง่ายและหลีกเลี่ยงปัจจัยนั้นเสีย
2.กินอาหารที่มีประโยชน์เพื่อให้วิตามิน แร่ธาตุและสารต้านอนุมูลอิสระได้ต่อต้านการเกิดเชื้อแบคทีเรีย สร้างภูมิต้านทานโรคให้แก่ร่างกาย พร้อมกันนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ นอนพักผ่อนให้เต็มอิ่มและหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทดี ไร้ซึ่งมลพิษทางอากาศซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการดังกล่าวได้
3.หากอยู่ในช่วงที่มีอาการกำเริบ ควรงดออกกำลังกายด้วยการว่ายน้ำ ดำน้ำหรือขึ้นเครื่องบินเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
4.หากเป็นไซนัสอักเสบ ไม่ควรรักษาด้วยตนเองตามวิธีพื้นบ้าน เช่น ใช้สารบางอย่างหยอดเข้าจมูกด้วยตนเองเพื่อทำให้น้ำมูกไหลออกมามาก เพราะเกิดการระคายเคืองในเยื่อบุจมูก แต่ผลที่ตามมาอาจทำให้ยิ่งเกิดการอักเสบและเสี่ยงจมูกพิการได้
การป้องกันไซนัสอักเสบ
การป้องกันไม่ให้เกิดไซนัสอักเสบนั้นทำได้ง่ายมากค่ะ เพราะเป็นวิธีพื้นฐานในการดูแลสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยเริ่มจากใส่ใจเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย กินให้ครบหลักโภชนาการทั้ง 5 หมู่เพื่อให้สารอาหารได้เสริมสร้างระบบภูมิต้านทานโรคให้แข็งแรง พร้อมที่จะช่วยต่อต้านเชื้อหวัดและเชื้อแบคทีเรียทุกชนิดได้ดีขึ้น โอกาสในการติดเชื้อหวัดก็จะน้อยลง พร้อมกับดื่มน้ำมากๆ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมกับร่างกายเป็นประจำ งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนมากมายแออัดและอยู่ท่ามกลางบริเวณที่มีฝุ่นควันต่างๆ ใส่ใจรักษาสุขภาพปากและฟัน โดยเฉพาะปัญหาฟันผุ ที่สำคัญหากคุณเป็นหวัดก็ไม่ควรปล่อยเฉยไว้หรือนิ่งนอนใจรอให้หายไปเอง เพราะหลังจากครบ 7 วันหรือ 10 วันแล้วอาการหวัดยังคงรุนแรงหรือไม่ดีขึ้นก็ควรพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่เนิ่นๆ จะดีกว่า
ทราบกันไปแล้วนะคะว่าไซนัสอักเสบคืออะไร อาการ โรคแทรกซ้อน การวินิจฉัย แนวทางการรักษาป้องกันและวิธีการดูแลตนเองอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากทำได้เช่นนี้ การเป็นหวัด ภูมิแพ้ซึ่งนำมาสู่การเป็นไซนัสอักเสบก็ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้น้อยลงแน่นอน