เคยมั้ยคะจู่ๆ รู้สึกร่างกายอ่อนแรงโดยเฉพาะปัญหาแขนขาอ่อนแรงอย่างไม่มีสาเหตุ
ทั้งที่เราก็ดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี กินอาหารที่มีประโยชน์
แต่แล้วทำไมหรือ?
วิตามิน แร่ธาตุจากอาหารเหล่านั้นไม่ได้เติมเต็มภูมิคุ้มกันโรคและสร้างเสริมพละกำลังให้เราอย่างเพียงพอหรืออย่างไร
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบกันนะคะว่านอกจากโรคทั่วๆ ไปที่เราเคยได้ยินกันแล้ว ยังมีภาวะแขนขาอ่อนแรงที่สามารถเกิดขึ้นในร่างกายเราได้เช่นกัน
เป็นอีกหนึ่งภาวะปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง สำหรับภาวะแขนขาอ่อนแรงนั้นเป็นอาการอย่างหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยมากพบได้ในวัยผู้สูงอายุตั้งแต่วัยทองขึ้นไป แต่ก็สามารถพบได้ในวัยหนุ่มสาวและวัยเด็ก อาการที่เกิดขึ้นมักเป็นตัวบ่งชี้ของโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไรจนกว่าจะได้รับการตรวจที่แน่นอนก่อน
photo credit: Jonathan Kos-Read
ดังนั้น หากใครมีอาการดังกล่าว ต้องรีบเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อหาทางป้องกันการเกิดโรคที่อันตรายจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคต
แขนขาอ่อนแรงที่เกิดขึ้นจากโรคอัมพฤกษ์
โรคอัมพฤกษ์ แม้จะเป็นโรคที่ความรุนแรงน้อยกว่าอัมพาต กล่าวคือผู้ป่วยยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง แต่ต้องระมัดระวังอุบัติเหตุจากอาการแขนขาที่อ่อนแรงลงไป ภาวะเหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน บางรายมีอาการรุนแรงมากจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย
โรคอัมพฤกษ์เกิดขึ้นได้จากการที่สมองขาดออกซิเจนไปหล่อเลี้ยง มีสาเหตุได้จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็น โรคเส้นเลือดในสมองอุดตันและเส้นเลือดในสมองแตก ทำให้การทำงานของสมองผิดปกติ เมื่อสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงก็เป็นเหตุทำให้ออกซิเจนไปไม่ถึงเซลล์สมอง เกิดภาวะสมองตายบางส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อแขนขาจนทำให้เกิดอาการไร้เรี่ยวแรงตามมานั่นเอง
ส่วนมากอาการของผู้ป่วยจะเป็นอาการรู้สึกชาร่างกายเพียงซีกใดซีกหนึ่ง หากสมองซีกขวาผิดปกติก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายซีกซ้าย แต่หากเป็นสมองด้านซ้ายทำงานผิดปกติก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายอีกซีกหนึ่งสลับกัน สำหรับสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคนี้มาจากภาวะของโรคหลอดเลือดในสมอง ปริมาณไขมันในเลือดสูงจะส่งผลให้หลอดเลือดมีไขมันส่วนเกินมาเกาะ
ทำให้การหมุนเวียนเลือดทำได้ไม่ดี หรือบางครั้งลิ่มไขมันก็เข้าไปอุดตันหลอดเลือดจนไม่สามารถทำงานได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและความดันจะต้องระมัดระวัง ดูแลเรื่องอาหารการกินและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องความเสี่ยงของการเกิดโรคอัมพฤกต์ให้น้อยลง
แขนขาอ่อนแรงจากโรค ALS
โรค ALS เป็นโรคที่อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าใดนัก จนกระทั่งกระแสของ IceBucket เข้ามารณรงค์ให้ผู้คนหันมาบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ป่วยโรคนี้กันทั่วโลก ทำให้โรคนี้กลายเป็นที่รู้จักและผู้คนเริ่มตระหนักถึงภัยเงียบของมันมากขึ้น สำหรับโรค ALS เกิดขึ้นจากการเสื่อมสภาพของระบบประสาท สิ่งที่น่ากลัวไปกว่านั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่มียารักษาได้
ผู้ป่วยจะต้องทนทุกข์ทรมานอยู่ภายใต้ร่างกายที่ค่อยๆ เสื่อมสภาพ ในขณะที่จิตใจยังคงสดใหม่เช่นเดิม แม้เป็นโรคที่ไม่มีความเจ็บปวด แต่มันกลับสร้างความทุกข์หทางจิตใจที่ไม่สามารถอธิบายได้ เปรียบเสมือนการถูกรัดตึงอยู่ในห้องขนาดพอดีตัวที่ไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ต่อไปเพียงแต่ 2-5 ปี และเสียชีวิตอย่างที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
โรคนี้แม้จะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อร่างกายโดยตรง แต่สาเหตุของมันกลับเกิดขึ้นจากสภาพการเสื่อมของระบบเซลล์ประสาทที่เข้าควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ รวมไปถึงการควบคุมเซลล์ประสาทสั่งการที่ผิดปกติ อาการที่เกิดขึ้นผู้ป่วยจะมีกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง
จากนั้นกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ก็จะค่อยๆ ไร้เรี่ยวแรงตามมา ไม่แม้แต่เฉพาะกล้ามเนื้อภายนอก แต่เนื้อเยื่อในช่องปากและอวัยวะต่างๆ ก็จะหลุดจากการควบคุมไปด้วย ทำให้บางคนจำเป็นต้องต่อท่อให้อาหารทางสายยางผ่านหลอดอาหาร เนื่องจากไม่สามารถเคี้ยวอาหารด้วยตนเองได้ มีอาการพูดไม่ชัด หนังตาตก หรือบางรายก็รุนแรงจนไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้อีกด้วย
กลุ่มเสี่ยงที่มักพบได้จากประชากร 1 แสนคน จะมีโอกาสพบผู้ป่วยเพียงแค่ 4-5 คนเท่านั้น หรือคิดเป็นร้อยละ 1.5 ซึ่งถือว่าเป็นอุบัติการณ์ที่พบได้น้อย ส่วนมากเป็นกลุ่มอายุในช่วง 60 ปีขึ้นไป โดยไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แถมผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ยังพบว่าตนเองไม่รู้สึกถึงอาการเบื้องต้นมาก่อน
เมื่อพบอีกทีคือมีอาการรุนแรงจนทำการรักษาได้ยากแล้ว ซึ่งส่วนมากอาการเริ่มแรกที่เป็นคล้ายกับอาการป่วยของโรคทั่วไป คือมีอาการเหนื่อยง่าย หอบ ต้องตื่นมาหายใจกลางดึก กลืนอาหารลำบาก สำลักบ่อยและอาจจะต้องใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจในผู้ป่วยที่มีอายุมากๆ
สรุปแล้วโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่เกิดขึ้นจากโรคทั้งสองชนิดที่กล่าวไปข้างต้น ล้วนมีอันตรายและกระทบต่อกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยโดยตรง ดังนั้นทางที่ดีผู้ที่ยังมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงไม่ควรนิ่งนอนใจ เข้ารับการตรวจร่างกายทุกๆ ปี เพื่อจะได้ทราบความผิดปกติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และทำให้สามารถรักษาอาการได้อย่างทันท่วงที แม้ว่าบางรายจะเป็นเพียงการประคับประคองอาการ แต่ถือว่าเป็นการช่วยยืดอายุให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตที่ยาวนานมากขึ้นได้ค่ะ