มะเร็งปอด โรคที่มีโอกาสรอด หากใส่ใจดูแลปอดเท่าทัน!

ปัจจุบันมะเร็งปอดเป็นโรคมะเร็งที่พบมากในประเทศไทย โดยพบในเพศชายเป็นอันดับ 2 และในเพศหญิงเป็นอันดับ 4 ผู้ป่วยที่มีอาการเริ่มแรกจะตรวจพบได้ยากมาก

เพราะอาการยังไม่มีปรากฏให้เห็นชัดเจนหรือยังไม่มีการแสดงอาการแรกเริ่มเท่าไรนัก ส่วนมากผู้ป่วยที่มาพบแพทย์มักจะมีอาการกำเริบลุกลามหนักแล้วเท่านั้นจึงจะมาตรวจรักษา

และโดยปกติ หากขึ้นชื่อว่าโรคมะเร็งล้วนย่อมเป็นโรคร้ายที่สามารถคร่าชีวิตผู้ป่วยได้สูงกว่าโรคอื่นๆ แต่ในกรณีของมะเร็งปอดนั้นไม่ว่าจะเกิดขึ้นในระยะใดก็ตาม

หากผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาอย่างถูกต้องก็ย่อมส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและทำให้อายุยืนยาวกว่ามะเร็งอื่นๆ ได้ค่อนข้างสูงกว่า

อย่างไรก็ตาม การเกิดมะเร็งปอดไม่ได้เกิดจากสาเหตุของการสูบบุหรี่หรือเกิดจากการที่ร่างกายได้รับควันบุหรี่แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

หากยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายด้านที่ส่งผลให้เกิดเป็นมะเร็งปอดได้ แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้มีความข้องเกี่ยวกับการสูบบุหรี่เลยก็ตาม

มะเร็งปอด

การอุบัติการณ์ของมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเป็นโรคที่มีอุบัติการณ์เกิดขึ้นที่เซลล์ของเนื้อปอด โดยมีการแบ่งแยกตัวเซลล์ในปริมาณมากเกินกว่าปกติ จนร่างกายไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่พอดีได้ เท่านั้นยังไม่พอมันยังมีการเจริญเติบโตจนลุกลามมารวมตัวกันจนกลายเป็นกลุ่มก้อนเนื้องอกซึ่งยังแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ โดยรอบให้ได้รับผลกระทบไปตามๆ กันได้อีกด้วย

2 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด

มะเร็งปอดเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงด้วยกัน 2 ประเภทหลักใหญ่ๆ ดังนี้
1.ปัจจัยภายในที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เกิดจากกรรมพันธุ์หรือจากพันธุกรรม
2.เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น เกิดจากการสูบบุหรี่และจากมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงย่อยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดมีด้วยกันดังนี้

1.การสูบบุหรี่

จากการสำรวจพบว่าผู้ป่วยมะเร็งปอดมากกว่า 85% เกิดจากการสูบบุหรี่ เนื่องจากในสูบบุหรี่มีสารพิษและสารก่อมะเร็งประมาณ 60 ชนิด ในขณะที่ภายในบุหรี่นั้นประกอบไปด้วยสารพิษต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแท้จริงนับพันชนิด ผู้สูบจึงได้รับผลกระทบต่อปอดโดยตรงและแม้จะหยุดสูบสูบบุหรี่ไปแล้วก็ตาม หากความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งก็ยังคงมีอยู่สูง เพราะผู้สูบมักมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดสูงมากถึง 10 เท่านั่นเอง ดังนั้น ยิ่งสูบมากและสูบเป็นระยะเวลายาวนานเท่าไร โอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งดังกล่าวก็จะยิ่งทวีความเสี่ยงสูงมากขึ้นตามเท่านั้น และแม้คนรอบตัวที่ไม่ได้สูบ แต่หากได้รับกลิ่นควันบุหรี่ร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้ใกล้ชิดผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 30 ก็มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตอันเกิดจากมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน

2.ซิการ์และไปป์

อีกหนึ่งสาเหตุที่ช่วยเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เป็นโรคมะเร็งปอดได้ด้วยเช่นกัน

3.แอสเบสทอส (Asbestos) หรือแร่ใยหิน

เส้นใยแอสเบสทอสที่ถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สิ่งก่อสร้างต่างๆ มักจะนำมาใช้เป็นแผ่นกันความร้อนตามอาคาร เป็นวัตถุไวไฟ ทำเป็นฉนวนบางชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอื่นๆ หากสูดรับแอสเบสทอสเข้าสู่ปอดและเกิดการสะสมเป็นระยะเวลาหลายปีก็ย่อมทำให้ปอดเกิดเป็นพังผืด หายใจลำบาก มีความผิดปกติ เซลล์เนื้อปอดจะถูกทำลาย มีอาการอักเสบเกิดขึ้นจนกระทั่งกลายเป็นมะเร็งปอดในที่สุด โดยส่วนมากมักจะเกิดกับผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่มีการนำแร่ใยหินแอสเบสทอสมาใช้งาน การก่อสร้างและรื้อถอนอาคารก็ย่อมทำให้เส้นใยแอสเบสทอสแพร่กระจายฟุ้งไปทั่วได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น บุคคลทั่วไปที่สูดดมแอสเบสทอสจากการลอยปะปนมาในอากาศก็ย่อมมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดความระคายเคืองต่อปอดร่วมด้วยเช่นกัน

4.เรดอน (Radon)

เป็นก๊าซชนิดหนึ่งซึ่งไร้สีและกลิ่น สามารถพบได้ในแหล่งพื้นดินตามธรรมชาติหรือในบริเวณที่มีแร่ยูเรเนียม สำหรับเรดอนมันจะระเหยขึ้นมาจากพื้นดิน หากเราสูดดมเข้าไปมันก็จะเข้าไปก่อให้เกิดอันตรายต่อปอดได้ค่ะ

5.มลภาวะรอบตัว

หรือสารรอบตัวชนิดต่างๆ เช่น นิกเกิล โครเมียม ฝุ่นที่พัดลอยมาจากโรงงานอุตสาหกรรม เขม่าควันต่างๆ ไอสารระเหยจากน้ำมันและมลภาวะทางอากาศที่ไร้ความบริสุทธิ์ เหล่านี้.. ล้วนแล้วแต่มีสารเคมีเจือปนทั้งสิ้น หากสูดรับเข้าปอดไปก็ย่อมทำให้ปอดได้รับสารพิษจนสะสมให้เกิดความระคายเคืองและเสี่ยงต่อการที่ปอดจะมีความผิดปกติได้สูง จะเห็นได้ว่ามลภาวะรอบตัวเราล้วนแล้วแต่นำความเสี่ยงมาสู่การเป็นมะเร็งปอดได้ด้วยกันทั้งสิ้น เราจึงควรพยายามปิดป้องจมูกเพื่อไม่ให้สูดรับอากาศเหล่านี้โดยตรงหรือหลีกเลี่ยงการอาศัยอยู่ในบริเวณแหล่งที่มีควันพิษรอบตัวจะดีที่สุด

6.โรคที่เกิดเกี่ยวกับปอด

ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับปอดย่อมมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยวัณโรค เพราะมะเร็งปอดมักเกิดขึ้นในตำแหน่งของรอยแผลเป็นซึ่งเกิดจากการติดเชื้อวัณโรคอีกทีได้ เพราะฉะนั้น สำหรับใครที่ป่วยเป็นวัณโรคควรใส่ใจเร่งรีบรักษาตนเองตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการการเรื้อรังของโรคจนนำมาสู่การแพร่ระบาดจนเกิดเป็นเซลล์มะเร็งปอดในอนาคตต่อไป

อาการของผู้ป่วยมะเร็งปอด

โรคร้ายแรงต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งจะดีมาก หากเราได้รับการวินิจฉัยหรือตรวจพบโรคได้ทันตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพราะโอกาสรอดตายจากมะเร็งย่อมมีสูงกว่าผู้ที่เพิ่งมาตรวจพบภายหลัง และพบว่าระยะของโรคลุกลามจนยากแก่การรักษาไปไกลแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ป่วยมะเร็งปอดก็เช่นเดียวกัน เพราะในระยะแรกมักไม่ค่อยมีอาการแสดงให้เห็นเด่นชัดเท่าใดนัก นอกเสียจากเนื้อร้ายของมะเร็งจะลุกลามบานปลายไปมากแล้ว อาการจึงจะบ่งชี้ลักษณะโรคได้ชัดเจน โดยผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดประมาณ 10-15% เท่านั้นที่มักตรวจพบมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น แน่นอนว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสรักษาให้หายขาดค่อนข้างสูง

อาการต่างๆ ของผู้ป่วยมะเร็งปอดมีดังนี้

– ผู้ป่วยมักมีอาการไอบ่อยและไอเป็นเวลานาน อาการจะไม่บรรเทาเบาลงเหมือนกับการไอทั่วไป แต่ยิ่งไออาการจะยิ่งเป็นหนักมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่ออาการหนักมากขึ้น เวลาไอมักจะมีเสมหะปนเลือดออกมา
– มีอาการหายใจติดขัดลำบาก หายใจสั้น หอบง่ายและเสียงแหบพร่า
– ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ผิวคล้ำซีด ผอมแห้ง เบื่ออาหารและน้ำหนักลด
– มักเจ็บหน้าอก หัวไหล่ หลังและเจ็บแขนอยู่เป็นประจำ เนื่องจากอาจเป็นเพราะก้อนเนื้อเบียดเสียดอยู่ภายใน
– ลำคอ ใบหน้าหรือแขนจะมีอาการบวม
– มักป่วยเป็นโรคปอดบวมหรือมีอาการหลอดลมอักเสบบ่อยครั้ง
อาการเบื้องต้นที่กล่าวมาจะไม่ใช่อาการของโรคมะเร็งปอดในระยะแรกค่ะ เนื่องจากมะเร็งปอดระยะเริ่มแรกนั้นจะไม่มีอาการใดๆ แสดง แต่จะสามารถตรวจพบได้ผ่านการตรวจเอกซเรย์จากปอดเท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรตรวจสุขภาพโดยละเอียดเป็นประจำทุกปี ก็จะทำให้แพทย์ตรวจพบความผิดปกติภายในปอดได้ทันการณ์และมีโอกาสรักษาให้หายได้สูงขึ้น

วิธีการตรวจวินิจฉัย

1.เริ่มตรวจจากการซักประวัติผู้ป่วย ตั้งแต่พฤติกรรมซึ่งนำไปสู่สาเหตุของการเกิดมะเร็งปอดอย่างการสูบบุหรี่ สภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน รวมถึงประวัติการเจ็บป่วยหรือการเกิดโรคของคนในครอบครัว

2.ฟังเสียงการหายใจและเสียงของปอด ซึ่งเป็นการตรวจหาความผิดปกติจากร่างกายด้วยการใช้หูฟังเสียงการหายใจ ฟังเสียงของปอดและทดสอบการทำงานของปอดว่ายังคงมีประสิทธิภาพดีตามปกติหรือไม่ เป็นต้น

3.ตรวจจากเสมหะผู้ป่วย โดยตรวจจากเสมหะที่ได้หลังจากตื่นนอนใหม่ๆ หากไม่มีเสมหะแพทย์ก็จะป้ายเอาสารคัดหลั่งอื่นในบริเวณคอหอยไปตรวจแทน

4.ตรวจจากภาพเอกซเรย์ วิธีการนี้จะตรวจอย่างละเอียดเพิ่มเติมหลายด้าน ตั้งแต่ภาพ x-ray ทรวงอกด้านข้างของผู้ป่วย เนื่องจากจะสามารถบอกตำแหน่งก้อนในปอดได้ว่าอยู่ด้านหน้าหรือหลัง สำหรับภาพในส่วนโทโมแกรม (tomogram) จะบอกรายละเอียดถึงเม็ดหินปูน (calcification) หรือความผิดปกติในโพรงเล็กๆ ที่ไม่สามารถพบจากภาพเอกซเรย์ธรรมดาได้ ในขณะที่การทำบรองโคแกรม (bronchogram) จะสามารถตรวจเพื่อบอกรายละเอียดของหลอดลมได้

โดยแต่ละกระบวนการดังกล่าว ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งการวินิจฉัยที่ค่อนข้างเจาะลึกโดยละเอียด และมีโอกาสที่แพทย์จะตรวจพบความผิดปกติของปอดได้ค่อนข้างสูง

5.การส่องกล้องตรวจหลอดลม (bronchoscopy) การตรวจด้วยการส่องกล้องนั้นจะช่วยได้เยอะมากทีเดียว เพราะเป็นวิธีตรวจที่สามารถส่องลึกไปจนถึงหลอดลมแขนงย่อยได้ ทำให้นอกจากจะเห็นลักษณะของหลอดลมได้ชัดเจนแล้ว ยังสามารถตัดเอาชิ้นเนื้อภายในหลอดลมและเนื้อปอดด้านนอกหลอดลม (transbronchial biopsy) เพื่อนำไปส่งตรวจทางพยาธิต่อได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังสามารถฉีดล้างด้วยน้ำหรือขูดเอาเยื่อหลอดลมออกมาเพื่อนำไปส่งตรวจทางเซลล์วิทยาต่อไปได้ด้วย

6.ตัดชิ้นเนื้อในบริเวณของต่อมน้ำเหลืองเพื่อนำไปส่งตรวจทางพยาธิ

7.ตรวจด้วยการทำสแกน (SCAN)

8.ตรวจโดยการใช้เข็มขนาดเล็กเจาะลึกลงไปยังก้อนเพื่อนำชิ้นเนื้อมาตรวจ

9.ตรวจโดยการส่องดูทรวงอกภายใน

10.ตรวจโดยการส่องดูกระดูกภายในสันอก

11.ตรวจด้วยการผ่าตัดเพื่อเปิดดูทรวงอก วิธีตรวจนี้จะเป็นวิธีสุดท้ายที่แพทย์ใช้สำหรับการวิเคราะห์หาโรคและเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในกรณีที่ผู้ป่วยก็เป็นเนื้องอกร่วมด้วย เพราะจะได้ตรวจรักษาโรคอย่างละเอียดตรงจุดมากขึ้น

ชนิดของมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอดมีด้วยกันหลายชนิด โดยแบ่งความแตกต่างกันไปตามเซลล์ สำหรับเซลล์ที่พบบ่อยมี 2 ชนิด คือ
1.มะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer, NSCLC)
2.มะเร็งปอดชนิดที่เป็นเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer, SCLC)

สำหรับการแบ่งชนิดเซลล์ดังกล่าว ไม่ใช่การบอกถึงขนาดของก้อนเนื้อมะเร็งนะคะ แต่เซลล์ใหญ่-เล็กนี้จะมีผลต่อการพยากรณ์และการรักษาโรคต่อไป ดังนี้ค่ะ

มะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์เล็ก (Non-small cell lung cancer, NSCLC)

มะเร็งปอดชนิดที่ไม่ใช่เซลล์เล็กนี้ ส่วนใหญ่พบประมาณ 75-80% ในผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด แต่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัด แต่จะต้องได้รับการตรวจพบในระยะแรกเท่านั้น หากปล่อยไว้ให้ลุกลามในระยะอื่นๆ แล้ว โอกาสรักษาให้หายขาดก็ย่อมลดน้อยลงเช่นเดียวกัน สำหรับมะเร็งปอดชนิดนี้แบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อยได้อีก คือ

1.ชนิดอะดิโนคาร์ซิโนม่า (Adenocarcinoma)

เป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่สามารถพบได้ในต่อมสร้างน้ำเมือกของปอด อุบัติการณ์ของเซลล์มะเร็งชนิดนี้จะเพิ่มอัตราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 20 ปีเรื่อยมา นั่นเพราะเครื่องมือวินิจฉัยในทางการแพทย์ได้มีวิวัฒนาการทันสมัยมากขึ้นโอกาสในการตรวจพบจึงมีสูงตาม และพบได้ประมาณ 40% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด โดยพบในผู้หญิงและในผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย

2.ชนิดสแควร์มัส คาร์ซิโนม่า (Squamous carcinoma)

หรือ epidermoid carcinoma เป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่สามารถพบได้ที่เยื่อบุผิวหลอดลม โดยพบมากที่สุดในเพศชายและผู้สูงอายุทั้งชาย-หญิง ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสูบบุหรี่ โดยมันจะมีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่ท่อทางเดินหายใจซึ่งมีขนาดใหญ่ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการไอบ่อยและไอรุนแรง อาจถึงขั้นไอออกมาเป็นเลือดหรือมีอาการปอดบวมร่วมด้วย เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งเข้าไปอุดท่อของหลอดลมให้ตัน เสมหะภายในที่ติดค้างอยู่จึงไม่สามารถไอเพื่อขับเอาออกมาภายนอกได้ เซลล์ดังกล่าวเป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่สามารถพบได้ประมาณ 30-35% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด

3.ชนิดเซลล์ตัวใหญ่ (Large cell carcinoma)

เป็นเซลล์ชนิดที่มีการแพร่กระจายตัวได้อย่างรวดเร็ว พบได้ในบริเวณผิวด้านนอกของเนื้อปอด โดยมากมักเป็นบริเวณริมขอบ และเนื่องจากการกระจายตัวของเซลล์เป็นไปอย่างรวดเร็ว บางครั้งจึงทำให้การตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อรักษาไม่สามารถทำได้ทันการณ์หากเทียบกับการเจริญเติบโตอันรวดเร็วของโรค เซลล์มะเร็งชนิดนี้มักได้พบประมาณ 5-15% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด

มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer,SCLC)

เป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่พบในผู้สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่มาก่อน โดยพบประมาณร้อยละ 15 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดทั้งหมด เซลล์ชนิดนี้มีลักษณะรูปร่างที่เล็กและกลม บางครั้งเรียกว่า Oat cell  มีจุดเกิดเริ่มต้นจากภายในหลอดลมที่มีขนาดเล็กๆ จากนั้นจึงแพร่กระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว หากผลการรักษากลับเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากมันเป็นเซลล์ชนิดที่สามารถตอบสนองต่อการให้เคมีบำบัดและการฉายรังสีได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

มะเร็งปอดชนิดเซลล์อื่นๆ

– เซลล์ชนิด Carcinoid Tumor เป็นเซลล์ที่พบได้น้อยมาก โดยพบประมาณ 1-5% จากผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งหมด
– เซลล์ชนิด Malignant Mesothelioma เป็นเซลล์ชนิดที่มีสาเหตุเกิดจากการสูดรับเส้นใยแอสเบสทอสหรือแร่ใยหิน พบได้มากในผู้สูงอายุ โดยมักตรวจพบที่เยื่อหุ้มปอดภายในและยากต่อการวินิจฉัยอย่างมาก

แนวทางในการรักษาโรคมะเร็งปอด

1.รักษาโดยการผ่าตัด (surgery)

การรักษาโรคทุกชนิดโดยการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งปอดก็ตามล้วนแล้วแต่พ่วงมาพร้อมความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้น แต่ผลการรักษาด้วยการผ่าตัดย่อมสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ หากร่างกายผู้ป่วยมีความแข็งแรงและเกิดการตอบสนองที่ดี โอกาสหายก็ย่อมมีสูงเช่นเดียวกัน

สำหรับการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งปอดนี้ แพทย์จะทำในผู้ป่วยที่มีความหวังว่าสามารถตัดเซลล์มะเร็งออกได้ทั้งหมด โดยไม่ทำลายเนื้อปอดส่วนอื่นๆ จนได้รับผลกระทบมากเกินไป โดยปอดที่เหลืออยู่นั้นจะต้องมีให้พื้นที่เพียงพอต่อการใช้หายใจ การตัดเซลล์มะเร็งในปอดออกจะต้องคำนึงถึงขนาดที่ตัดและตำแหน่งของมะเร็ง รวมถึงสมรรถภาพของปอดที่จะต้องเหลือไว้ โดยอาจผ่าตัดเอาเพียงบางกลีบออกหรือตัดออกไปทั้งกลีบ (lobectomy) หรืออาจตัดปอดทั้งข้าง (pneumonectomy)

นอกจากนี้ บางกรณีอาจจำเป็นต้องตัดเอาส่วนที่มะเร็งลุกลามออกไปพร้อมกันด้วย ยิ่งหากเป็นการผ่าตัดแบบเปิดทรวงอกด้วยแล้ว หากแพทย์พบว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ โดยรอบ โดยเฉพาะบริเวณเยื่อที่กั้นกลางของช่องอก สำหรับการรักษาก็ยังคงเป็นกระบวนการที่มีการถกเถียงกันอยู่

อย่างไรก็ตาม การรักษาอีกวิธีก็คือ ปิดทรวงอกโดยที่ไม่ต้องตัดปอดและจะฉายรังสีให้แก่ผู้ป่วยภายหลังจากผ่า และอีกกรณีหนึ่งคือ การตัดปอดหรือตัดเอากลีบปอดพร้อมกับมะเร็งที่พบในเยื่อกั้นกลางระหว่างช่องอกออกไปให้มากที่สุด หลังจากนั้นก็จะรักษาด้วยการฉายรังสีต่อไป

2.รักษาโดยใช้รังสีหรือการฉายแสง (Radiation therapy)

สำหรับการรักษาด้วยวิธีการใช้รังสีหรือการฉายแสงนั้นมักใช้ในผู้ป่วยที่ผ่าตัดไม่ได้ รวมถึงรายที่ผ่านการผ่าตัดไปแล้วแต่ยังตัดเอามะเร็งออกไปไม่หมดหรือมะเร็งอาจจะงอกขึ้นมาใหม่ คุณสมบัติจากการใช้รังสีนั้นมีดีตรงที่สามารถช่วยบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยได้ เช่น ในกรณีที่เกิดการอุดกั้นของหลอดเลือดดำใหญ่ ผู้ป่วยมีอาการทางสมองและมีอาการปวดกระดูก เป็นต้น

ปัจจุบันวิธีการรักษาหลักที่ใช้สำหรับรักษามะเร็งชนิด oat cell นั้นคือ การฉายรังสีไปพร้อมกับการให้เคมีบำบัด นอกจากนี้ ด้วยเพราะเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้รับการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดช่องทางการรักษาด้วยเทคนิควิธีใหม่ๆ หลายวิธี เช่น เทคนิคของการให้รังสีไปพร้อมกับการให้เคมีบำบัด การฉายรังสีแบบ 3 มิติ , Fractionation , Radiation modifiers เป็นต้น

เทคนิคในการรักษาใหม่ๆ ไม่ได้จบลงเพียงแค่นั้นนะคะ เพราะยังมีเทคนิคการฉายรังสีในรูปแบบใหม่ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษา ทั้งยังช่วยลดโอกาสในการกลับมาเกิดขึ้นซ้ำได้ด้วยและยังสามารถนำมาใช้รักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองอาการได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

3.รักษาโดยใช้เคมีบำบัด (Chemotherapy)

เราอาจจะเคยได้ยินกันว่าการรักษาโรคมะเร็ง โดยการให้ยาเคมีบำบัดนั้นมักมีผลข้างเคียงสูงตามมาเสมอ หากอย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายสูงเช่นเดียวกัน แม้ว่ายาจะแรงเพียงใด แต่หากร่างกายของผู้ป่วยมีความแข็งแรงเป็นพื้นฐาน การตอบสนองต่อผลข้างเคียงยาก็จะมีน้อยลง สำหรับการรักษาโดยการให้เคมีบำบัดนั้นมักมีบทบาทสำคัญอย่างมากสำหรับการนำมาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็งปอด และปัจจุบันยังนิยมใช้ยาหลายชนิดสลับกันเป็นระยะ (cyclical treatment) ร่วมด้วย

เนื่องจากให้ผลลัพธ์การรักษาซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้ยาเพียงชนิดเดียว ดังนั้นแล้ว ผลการรักษาจะออกมาดีมากน้อยหรือไม่ล้วนขึ้นอยู่ที่สภาพร่างกายของผู้ป่วยร่วมด้วยทั้งสิ้น นอกจากนี้ หากมีมะเร็งในร่างกายน้อยการรักษาก็จะยิ่งให้ประสิทธิผลที่น่าพึงพอใจ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการใช้ยาให้ตรงกับชนิดของมะเร็งด้วย

กลุ่มยาที่ใช้ในการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด

1.การใช้ยารักษาแบบเคมีบำบัดซึ่งเป็นตัวยาในกลุ่มช่วยยับยั้งการทำงานของ epidermal growth factor receptor (EGFR inhibitors) คุณสมบัติของยาจะช่วยยับยั้งการส่งสัญญาณที่มีความเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตในเซลล์ก้อนมะเร็งในรูปแบบเฉพาะเจาะจงต่อเซลล์นั้นๆ ได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะตัวยาในกลุ่มที่มีการแสดงออกของ EGFR สูง อย่างเช่น มะเร็งที่คอและศีรษะ มะเร็งปอดและมะเร็งปากมดลูก เป็นต้น

จากการศึกษาทางด้านคลินิกยังพบอีกว่า การรักษาโดยวิธีดังกล่าวยังช่วยให้ก้อนมะเร็งเกิดการหดตัวจนเล็กลงได้หรือสามารถยับยั้งไม่ให้เซลล์มะเร็งลุกลามแพร่กระจายออกไป ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อการรักษาผู้ป่วยหลายรายเลยทีเดียวและแน่นอนว่ามันจะช่วยลดอาการต่างๆ ของโรคได้ดีอีกด้วย

2.เป็นยาเคมีบำบัดที่เพิ่งค้นพบใหม่ แต่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยจากทางคลินิก มีทั้งประเภทการใช้แบบเดี่ยวโดยเฉพาะและการใช้ร่วมกับตัวยาอื่นๆ พร้อมกัน

3.เป็นยาในกลุ่มที่มีฤทธิ์ช่วยยับยั้บการสร้างหลอดเลือดของก้อนมะเร็ง เนื่องจากเซลล์ของก้อนมะเร็งจะมีชีวิตและเจริญเติบโตอยู่ภายในร่างกายของเราได้ โดยอาศัยอาหารและออกซิเจนจากหลอดเลือดคนเราเท่านั้น ซึ่งมันจะสร้างหลอดเลือดขึ้นมาเป็นของตัวเองด้วย หลังจากนั้นหลอดเลือดของมะเร็งจึงจะเชื่อมต่อกับหลอดเลือดของร่างกายคนเรา ในการรักษาหากเราสามารถทำลายหรือมีตัวยายั้บยั้งไม่ให้ก้อนมะเร็งร้ายนี้สร้างหลอดเลือดขึ้นมาเองได้ เซลล์มะเร็งก็จะไม่ได้รับสารอาหารและขาดออกซิเจนจนกระทั่งมันตายลงในที่สุด

4.Gene Therapy เป็นการรักษาโดยใช้สารทางพันธุกรรม (Genetic material) โดยจะใส่สารดังกล่าวเข้าไปยังเซลล์มะเร็งเพื่อกระตุ้นให้เซลล์สามารถควบคุมการทำงานได้ตามปกติ วิธีการรักษาดังกล่าวนี้เป็นผลดีต่อการนำมาใช้การรักษาและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้ค่ะ

5.Monoclonal antibodies เป็นตัวยาที่สร้างขึ้นจากห้องปฏิบัติการเพื่อนำมาใช้สำหรับต่อต้านเซลล์มะเร็งแบบเฉพาะเจาะจงเซลล์เท่านั้น

วิธีรักษาโรคมะเร็งด้วยประการดังกล่าวทั้งหมดนั้น ไม่มีวิธีใดที่จะสามารถยืนยันได้ว่าใช้รักษาผู้ป่วยทุกรายให้ขาดหายได้เหมือนกันทุกคน เพราะอาการและระยะของผู้ป่วยแต่ละรายที่เป็นโรคมะเร็งปอดล้วนมีความแตกต่างกันทั้งสิ้น อีกทั้งเซลล์มะเร็งเองก็มีความไวต่อการตอบสนองทางด้านการรักษา ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ออกมาในแบบแตกต่างกันด้วย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันทางการแพทย์ก็พยายามหันมาใช้วิธีรักษาโรคมะเร็งปลอด โดยครอบคลุมทุกวิธีรวมถึงการให้ยารักษาบำบัดทางเคมีด้วยตัวยาหลายชนิด ดังนั้นแล้ว โอกาสในการรักษาอย่างได้ผลก็ย่อมเป็นไปได้สูง แต่ทั้งนี้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่สภาพความแข็งแรงของผู้ป่วยและระยะลุกลามของมะเร็งว่ามีมากน้อยเพียงใดด้วยนั่นเอง

โรคมะเร็งทุกชนิดหรือโรคทุกโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นกับชีวิตคนเรา คงจะไม่มีแนวทางการรักษาไหนจะดีเยี่ยมไปกว่าการหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพกันตั้งแต่เนิ่นๆ สำหรับใครที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีความเสี่ยงในการสูดดมเส้นใยแอสเบสทอลหรือแร่ใยหิน ตลอดจนสูดรับควันพิษต่างๆ และผู้ที่ชอบสูบบุหรี่หรือผู้ที่อยู่ใกล้กับคนสูบบุหรี่

คนเหล่านี้ล้วนมีอัตราความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งปอดสูงด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ควรหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะการตรวจสุขภาพปอดอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้คุณพบความผิดปกติของปอดจนนำมาสู่การวินิจฉัยหาโรคเพื่อได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีต่อไป

นอกจากนี้ หากใครที่ชอบสูบบุหรี่เป็นประจำ หากคุณตระหนักคิดถึงสุขภาพของตัวเองและคนที่คุณรักเป็นหลัก โอกาสในการเกิดมะเร็งปอดก็ย่อมลดน้อยลงเช่นเดียวกัน

อย่าลืมนะคะว่าการเกิดมะเร็งปอดก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในผู้สูบบุหรี่เท่านั้น หากยังหมายรวมถึงผู้ที่อยู่ใกล้ชิดคุณด้วย โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ

อย่างน้อยหากคุณไม่นึกถึงสุขภาพของตัวคุณเองก็ควรตระหนักเห็นใจสุขภาพพวกเขาโดยพยายามลดละเลิกเพื่อสุขภาพคนที่คุณรัก

เพื่อให้พวกเขาได้มีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุที่ยืนยาวห่างโรคไปนานๆ ย่อมดีกว่าจริงมั้ยคะ

ใหม่กว่า เก่ากว่า