“โซเดียม” เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของอาหารหลากหลายชนิด โดยเฉพาะในอาหารแปรรูปตามห้างสรรพสินค้าที่แพ็คใส่กล่องแช่แข็งเอาไว้แล้ว
รวมไปถึงขนมกรุบกรอบและผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบต่างๆ ที่มีรสชาติเค็มเหล่านี้จะมีส่วนประกอบของโซเดียมอยู่ในปริมาณสูง
ไม่เว้นแม้กระทั่งกับข้าวที่ขายอยู่ตามท้องตลาดก็มีปริมาณโซเดียมสูงไม่แพ้กัน ซึ่งมาจากเครื่องปรุงรส เกลือ น้ำปลา ซีอิ๋ว และผงชูรสทั้งหลายแหล่
ในแต่ละวันที่เราต้องรับอาหารเข้าไปจึงแทบจะหลีกเลี่ยงการรับเอาโซเดียมเข้าไปด้วยไม่ได้ ทำได้แค่เพียงจำกัดปริมาณโซเดียมให้อยู่ในสัดส่วนที่ไม่เกินความเหมาะสมที่ร่างกายควรได้รับเท่านั้น
โซเดียมที่อยู่ในอาหารคืออะไร จำเป็นต่อร่างกายด้วยหรือไม่?
เมื่อพูดถึงโซเดียม ทุกคนก็จะต้องนึกถึงรสชาติเค็มที่ช่วยเพิ่มรสอาหารให้อร่อยและดูถูกปากยิ่งขึ้น ซึ่งสารชนิดนี้คือเกลือแร่ที่แม้เราจะรู้จักแต่โทษของมันตามสื่อต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วโซเดียมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย
Photo Credit: Stephen Begin
หน้าที่หลักของมันคือการปรับสมดุลการทำงานของๆ เหลวภายใน ไม่ว่าจะเป็นระบบหมุนเวียนเลือดและน้ำเหลือง ช่วยให้ไตและลำไส้เล็กดูดซึมอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงช่วยทำให้กล้ามเนื้อสามารถทำงานได้อย่างปกติ
กลับมาพูดถึงโซเดียมที่เรารับเข้าไปจากอาหารถูกจัดอยู่ในรูป “เกลือแกง” และ “น้ำปลา” เป็นหลัก ซึ่งในเครื่องปรุงเหล่านี้มีรสเข็มจัดเป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่าต้องมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ แต่ก็ยังมีอาหารอีกจำพวกหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีรสเค็มแต่กลับอุดมไปด้วยโซเดียมในปริมาณมหาศาลไม่แพ้กัน
เช่นเดียวกันกับผงชูรสที่เราควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีปริมาณโซเดียมมากกว่าเกลือสูงถึง 3 เท่า ดังนั้น การใช้ผงชูรสในการปรุงอาหารในปัจจุบันจึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรตระหนัก เนื่องจากใน 1 วันร่างกายจะสามารถรับโซเดียมได้สูงสุดเพียงแค่ 2,300 มิลลิกรัมหรือประมาณเกลือ 1 ช้อนชาเท่านั้นจึงจะไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
อาหารที่มีส่วนผสมของโซเดียมเป็นส่วนประกอบ
อาหารที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวันล้วนมีส่วนประกอบของโซเดียมผสมอยู่เกือบทุกชนิดไม่เว้นแม้กระทั่งผักและผลไม้ ซึ่งมีโซเดียมจากธรรมชาติในปริมาณไม่สูงมากนักยกเว้นในเนื้อสัตว์ ในแต่ละวันที่เรากินอาหารเหล่านี้เข้าไป ก็ถือว่าร่างกายได้รับโซเดียมที่เพียงพอกับความต้องการในการใช้งานได้แล้ว
ส่วนโซเดียมที่มาจากอาหารรูปแบบอื่น เล่น อาหารกระป๋องที่มักจะเติมเกลือและสารกันบูดเป็นส่วนประกอบลงไปด้วยเพื่อคงรสชาติความอร่อยและทำให้อาหารสามารถเก็บรักษาเอาไว้ได้นาน นอกจากนี้ ยังพบโซเดียมในปริมาณสูงในอาหารประเภทกึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส ขนมเบเกอรี่ เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปทุกชนิด
ผลกระทบจากการโซเดียมต่อร่างกาย
โซเดียมไม่ใช่แร่ธาตุที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย มันมีประโยชน์และความจำเป็นที่ร่างกายต้องการได้รับ แต่หากได้รับเกินความต้องการ แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลเสียต่อระบบการทำงาน รวมไปถึงการเสียสมดุลของความดันในร่างกายเช่นเดียวกับอาหารประเภทอื่นๆ ที่หากรับเอามามากเกินไปก็ล้วนทำให้เกิดโทษได้เช่นเดียวกัน
ผู้ที่ของรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงเป็นประจำทุกวัน จนเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับ ไตจะทำงานหนักเพื่อขับโซเดียมส่วนเกินออกไป บางรายมีภาวะความดันในเลือดสูงเนื่องจากการเสียสมดุลของระบบหมุนเวียนโลหิต และที่สำคัญมันยังส่งผลกระทบกับผู้ที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนัก เนื่องจากโซเดียมจะทำให้ขนาดตัวใหญ่ขึ้น มีอาการบวมน้ำ รู้สึกโหยอาหารหวาน โดยเฉพาะน้ำอัดลมส่งผลให้มีปริมาณน้ำตาลเพิ่มขึ้นและนำมาซึ่งภาวะน้ำหนักตัวที่สูงตามมาอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม เราอาจจะเห็นโทษของโซเดียมมากมาย แต่หากเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ มีโซเดียมในปริมาณต่ำ ก็จะไม่ส่งผลร้ายใดๆ ต่อร่างกาย แถมโซเดียมยังเข้าไปทำหน้าที่ให้ร่างกายทำงานได้อย่างปกติอีกด้วย ดังนั้น ก่อนกินอาหารทุกชนิด อย่าลืมพิจารณาความเค็มให้ดีก่อนทุกครั้งด้วยนะคะ