คงไม่มีใครที่ไม่เคยรู้สึกหิวมาก่อน ความหิวจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่จะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวัน
แต่ใครจะรู้บ้างว่าความหิวที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากสภาพจิตใจ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ คนที่ลดน้ำหนักอาจจะหาวิธีต่างๆ นานาเพื่อให้ร่างกายรู้สึกอิ่มอยู่ตลอดเวลา เพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้กินเกินปริมาณ
แต่ก็ยังเกิดอาการหิวกระหายจนต้องกินเข้าไปในที่สุด ซึ่งต้นตอของความหิวที่เกิดขึ้นมาจากการหลั่งของฮอร์โมนความหิวที่ชื่อว่า “เกรลิน”

Photo Credit: Corie Howell
กระบวนการหลั่งฮอร์โมน “เกรลิน”
ฮอร์โมนความหิวชนิดนี้จะทำหน้าที่ของมันตามธรรมชาติ ตามหลักทั่วไปมันจะถูกกระตุ้นเพื่อส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อบอกว่าถึงเวลาที่ร่างกายจะต้องได้รับสารอาหารแล้ว โดยตัวฮอร์โมนจะหลั่งออกมาที่เซลล์ของกระเพาะอาหาร ทุกครั้งก่อนมื้ออาหาร เกรลินจะพุ่งสูงขึ้นและจะค่อยๆ ลดปริมาณลงในระยะเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง สังเกตได้ว่าหากใครสามารถควบคุมฮอร์โมนไม่ให้สูงเกินไปได้ก็สามารถยับยั้งอาการหิวกระหายจนกินเกินปริมาณได้
หลักในการควบคุมเกรลินให้อยู่หมัด
สำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงลดน้ำหนัก คงไม่มีใครอยากเจอสภาวะหิวโหยอย่างบ้าคลั่งเพราะนั่นคือ สัญญาณที่จะนำมาซึ่งปัญหาการกินแบบไม่ยั้งมือ กินแบบขาดสติและกินทุกอย่างที่ขวางหน้าจนทำให้น้ำหนักขึ้นมาได้ การควบคุมฮอร์โมนตัวนี้ให้คงที่และไม่พุ่งสูงเกินไป ควรเลือกใช้เคล็ดลับที่เราจะขอนำเสนอต่อไปนี้ที่จะช่วยลดความอยาก ป้องกันภาวะหิวแบบรุนแรงได้
1.อย่าสร้างความเครียดให้กับร่างกาย
ความเครียดเป็นตัวการสำคัญที่จะทำให้ร่างกายรู้สึกถูกกดดันจนนำมาซึ่งการกระตุ้นกักเก็บพลังงานและดึงพลังงานบางส่วนมาใช้ เมื่อนั้นร่างกายจะรู้สึกหิวเป็นพิเศษ เนื่องจากฮอร์โมนเกรลินถูกหลั่งออกมาเพื่อให้เรากินอาหารเพิ่มเข้าไปทดแทนส่วนที่ถูกดึงไปใช้ ในระหว่างที่รู้สึกว่าตัวเองเครียดควรหากิจกรรมอะไรทำที่ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ ฟังเพลง นั่งสมาธิหรือสวดมนต์ก็จะช่วยทุเลาอาหารหิวให้น้อยลงมาได้
2.นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
คนส่วนมากอาจจะเคยประสบกับปัญหาการนอนดึกจนทำให้รู้สึกหิว นั่นก็เป็นเพราะว่าฮอร์โมนชนิดนี้ถูกหลั่งออกมามายขึ้น หากยิ่งนอนดึกเป็นประจำก็จะยิ่งทำให้ร่างกายรวน ตื่นมาพร้อมกับความง่วงและไม่สดชื่น ยิ่งทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นความอยากจนกินแบบไม่เลือกหน้าตามมา
3.แบ่งอาหารออกเป็นมื้อเล็กๆ ในระหว่างวัน
วิธีนี้จะช่วยควบคุมฮอร์โมนให้ไม่สูงมากเกินไป เนื่องจากร่างกายถูกหลอกว่าได้รับอาหารอย่างต่อเนื่อง มันจึงไม่จำเป็นไปกระตุ้นสมองให้สั่งการรับอาหารเพิ่มเข้ามาอีก โดยอาจจะแบ่งจาก 3 มื้อเป็น 6 มื้อต่อวัน ให้พลังงานที่ได้รับเท่ากับ 3 มื้อเช่นเดิม อีกทั้งการกินแบบนี้จะช่วยกระตุ้นระบบเผาผลาญทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่งด้วย
ทราบกันเช่นนี้ แล้วสาวๆ ก็ควรหันมาปรับพฤติกรรมตนเองเสียใหม่ หากอยากให้การลดน้ำหนักประสบความสำเร็จก็ต้องควบคุมฮอร์โมนตัวนี้ให้อยู่หมัดให้ได้นั่นเองค่ะ