เชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) เชื้อวายร้าย รู้ไว้ก่อนภัยมาถึงสุขภาพ

เชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola) เชื้อไวรัสมรณะที่เลื่องลือไปทั่วทุกมุมโลกและกำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในแอฟริกาตะวันตก จนส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อไปแล้วนับกว่าพันคน และเสียชีวิตแล้วกว่า 600 ราย อีกทั้งการแพร่เชื้อจากคนสู่คนก็ง่ายดาย ดังนั้น เพื่อให้เราได้รู้เท่าทันโรคร้ายและจะได้ไม่เป็นการชะล่าใจในการดำเนินชีวิต วันนี้เรามาทำความรู้จัก เข้าใจ รู้ที่มาที่ไปของโรคอีโบลาไปพร้อมกันดีกว่านะคะ

 

Photo Credit: hukuzatuna

Photo Credit: hukuzatuna

สายพันธุ์และการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา
เชื้อไวรัสอีโบลาเกิดการระบาดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2519 ในประเทศซูดานและซาร์อี (ประเทศคองโกในปัจจุบัน) โดยจำแนกออกได้ 5 สายพันธุ์ ได้แก่
1. อีโบลา-ซาร์อี (Ebola-Zaire)
2. อีโบลา-ซูดาน (Ebola-Sudan)
3. อีโบลา-เรสตัน (Ebola-Reston)
4. อีโบลา-โกตดิวัวร์ (Ebola-Côte d’Ivoire)
5. อีโบลา-บันดิบูเกียว (Ebola-Bundibugyo)
แต่ละชื่อสายพันธุ์ล้วนถูกตั้งตามสถานที่ที่เกิดการระบาดในพื้นที่นั้นๆ แต่สำหรับชื่อ ‘อีโบลา’ ได้ถูกตั้งชื่อตามแม่น้ำสายสำคัญแห่งทวีปแอฟริกา อีกทั้งยังพบการรายงานอีกว่ามีการแพร่ระบาดไปยังประเทศอื่นๆ ของทวีปแอฟริกาตะวันตกด้วยเช่นเดียวกัน ได้แก่ ประเทศคองโก กาบอง  ยูกันดา ไอวอรี่โคสต์ กินี ซูดานใต้ และไลบีเรีย ส่วนสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักทางแอฟริกาตะวันตกในตอนนี้ก็คือ สายพันธุ์อีโบลา-ซาร์อี นอกจากนี้ ยังมีสายพันธุ์อีโบลา-เรสตันซึ่งถ้าผู้ป่วยติดเชื้อแล้วจะไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยภายในร่างกาย และเมื่อนับจากสถิติในปัจจุบันผู้ที่ติดเชื้อไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซาร์อีในขณะนี้ ล้วนมีโอกาสเสียชีวิตสูงมากถึง 80-90% เลยทีเดียว

การแพร่เชื้อไวรัสอีโบลา
เชื้อไวรัสอีโบลาสามารถแพร่เชื้อได้จากคนไปสู่คน โดยผ่านการสัมผัสสารคัดหลังของตัวผู้ป่วย เช่น น้ำลาย น้ำมูก เหงื่อ เลือด ปัสสาวะและอสุจิ เป็นต้น รวมถึงการสัมผัสกับสิ่งของรอบตัวต่างๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวจับบันได รั้ว ปุ่มกดลิฟต์ กระทั่งการสัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อดังกล่าวด้วยสำหรับที่มาที่ไปของการแพร่เชื้อไวรัสมรณะนี้นั้น เชื่อกันว่าเกิดจากค้างคาวผลไม้ซึ่งเป็นสัตว์ที่ชาวแอฟริกามักนิยมจับมาทำอาหารรับประทาน แต่ขณะนี้ ทางองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ออกมาประกาศเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เกิดการแพร่ระบาดหยุดล่าค้างคาวมาทำอาหารแล้ว ไม่เช่นนั้น เชื้อร้ายมรณะอาจจะคร่าชีวิตผู้คนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้

การวินิจฉัยหาโรคอีโบลา
สำหรับการวินิจฉัยหาโรคอีโบลาในระยะแรกล้วนมีความเป็นไปได้ช้า เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการผื่นแดงและตาแดงซึ่งถือเป็นอาการของโรคอื่นได้ด้วยเช่นกัน ผลการวินิจฉัยหาโรคจึงค่อนข้างมีสิทธิ์ไขว้เขวหรือผลออกมาไม่แม่นยำดีเท่าที่ควรเป็น ดังนั้น ผู้ป่วยและคนรอบข้างจึงควรหมั่นเฝ้าสังเกตอาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น เพื่อจะได้เข้ารับการรักษาได้ทันการณ์ ก่อนที่อาการของโรคจะลุกลามกระทั่งร่างกายทรุดตัวลงหนัก

อาการของโรคอีโบลา
เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสอีโบลาไปแล้ว ภายหลังได้รับเชื้อประมาณ 8-10 วันอาการของโรคจะเริ่มแสดงให้เห็น แม้ว่าเชื้อดังกล่าวจะมีระยะในการฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 2-21 วันก็ตาม โดยอาการของโรคจะประกอบไปด้วย อาการไข้ ปวดศีรษะ ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อต่างส่วนต่างๆ ของร่างกาย ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน เบื่ออาหาร ปวดข้อ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดเลือดออกทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ผู้ป่วยยังมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ มีอาการเจ็บคอ กลืนอาหารยาก เจ็บบริเวณหน้าอก สะอึก ไอ ตาแดงและผื่นขึ้น อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความรุนแรงจนถึงขั้นเลือดออกทางตา หู จมูกและปากตามมาได้ด้วย โดยอาการดังกล่าวเป็นอาการบ่งชี้ของโรคอีโบลาอย่างชัดเจนแน่นอน

การรักษาและป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลาในปัจจุบัน
แม้ว่าเชื้อไวรัสอีโบลาจะเกิดการแพร่ระบาดมานานมากแล้ว ทว่าในปัจจุบันก็ยังไม่มีตัวยารักษาหรือแม้แต่วัคซีนป้องกันเชื้อโรคดังกล่าวโดยตรง ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อแพทย์จะให้การรักษาแบบประคับประคองไปตามอาการที่เกิดขึ้นเท่านั้น โดยคอยดูแลรักษาระดับของเหลวและอิเล็กโตรไลท์ภายในร่างกายให้เกิดความสมดุลกัน คอยควบคุมระดับความดันโลหิต ดูแลระดับออกซิเจนในเลือด ตลอดจนคอยรักษาแต่ละอาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อต่างๆ เป็นระยะเพื่อยับยั้งไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการทรุดหนักมากขึ้นเท่านั้น

เชื้อไวรัสอีโบลาเป็นเชื้อไวรัสมรณะที่คนทั่วโลกกำลังหวาดสะพรึงและกลัวว่าเชื้อจะแพร่ระบาดไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยเองยังคงมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อต่ำมาก แต่การที่เราศึกษาข้อมูลโรคร้ายต่างๆ เอาไว้ก็นับเป็นการไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต ถือว่าเราไม่ได้ชะล่าใจและยังคงเฝ้าระมัดระวังตัวเพื่อป้องกันภัยแห่งไวรัสมรณะอื่นๆ มาเยือนถึงตัวก่อนได้ทันท่วงที และสำหรับการดูแลสุขภาพของเราแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไหนโรคใดก็ตาม การที่เราหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์และนอนพักผ่อนเพียงพอ ไม่เครียดก็ย่อมเป็นพื้นฐานเบื้องต้นในการมีสุขภาพที่ดีและมีระบบภูมิคุ้มกันโรคที่แข็งแรง สามารถใช้ชีวิตห่างไกลจากโรคอื่นๆ รอบตัวได้ดีแล้วเช่นกันค่ะ

 

ใหม่กว่า เก่ากว่า